วันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทฤษฎียึดบุคคลเป็นศูนย์กลางการบำบัดรักษาของ คาร์ล อาร์ โรเจอร์

ทฤษฎียึดบุคคลเป็นศูนย์กลางการบำบัดรักษาของ คาร์ล อาร์ โรเจอร์
 

                คาร์ล โรเจอร์ ได้พัฒนาทฤษฎีการเข้าใจตนเองอย่าง  ถ่องแท้  ในแง่ที่คนเรามีแรงขับพื้นฐานภายในที่จะบรรลุถึงศักยภาพสูงสุดของตัวเองซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรียกว่า  Self-Actualizingโรเจอร์ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเลี้ยงดู  โดยเฉพาะการเลี้ยงดูของแม่ที่จะมีอิทธิพลกับบุคลิกภาพของลูก และให้ความสำคัญกับอัตมโนทัศน์ (Self Concept) ที่เป็นมุมมองที่คนเรามีเกี่ยวกับตนเองนั้นว่าประกอบด้วย  3  ส่วน  ได้แก่ 

Ø ตัวตนในอุดมคติ (IdealSelf)

Ø ภาพลักษณ์เกี่ยวกับตัวตนที่ดี (Self Image)

Ø การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) 

แนวคิดของ คาร์ล  อาร์  โรเจอร์

                ในการบำบัดแบบผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง โรเจอร์ให้ความสำคัญกับเหตุผลเป็นอันดับรอง โรเจอร์เชื่อว่า สัญชาตญาณของมนุษย์ชาญฉลาดกว่าสติปัญญา สติปัญญาชาญฉลาดกว่าความคิดที่รู้สำนึก ตามแนวคิดของโรเจอร์ มนุษย์ควรจะสามารถเชื่อในความรู้ภายในตัวเอง หรือความรู้สึก ตามสัญชาตญาณของตนมากขึ้น เมื่อมนุษย์กระทำการตามสัญชาตญาณ มนุษย์สามารถเชื่อในปฏิกริยาของอินทรีย์ทั้งครบของตนเอง ซึ่งบ่อยครั้งให้ผลถึงการตัดสินใจที่ดีกว่า ผู้ที่ทำการโดยการคิดแบบรู้สำนึกเพียงอย่างเดียว แม้ว่าจะเป็นการกระทำโดยใช้สัญชาตญาณมากกว่าก็ตาม

                ตามแนวคิดของโรเจอร์ มนุษย์มีความโน้มเอียงที่จะทำให้ตนเองประสบความสำเร็จ และนิยามความโน้มเอียงนี้ว่า ความโน้มเอียงโดยธรรมชาติของอินทรีย์ที่จะพัฒนาความสามารถทั้งหมดของตนเอง ซึ่งช่วยในการธำรงไว้ และความก้าวหน้าของอินทรีย์นั้น ความโน้มเอียงที่จะทำให้ตนเองประสบความสำเร็จ เป็นแรงผลักดันหลักของมนุษย์

                ตามแนวคิดนี้ โรเจอร์มุ่งเน้นความโน้มเอียงของมนุษย์ต่อการเติบโตทางกาย วุฒิภาวะ และความต้องการมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างใกล้ชิด และความโน้มเอียงของเขาที่จะจัดตนเองเข้าในสภาพแวดล้อม เพื่อจะไปสู่ความเป็นอิสระของตนเอง จากการควบคุมภายนอกต่างๆ หน้าที่ของผู้ให้คำปรึกษาแบบผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้เป็นการชี้นำ หรือทำให้ปัญหากระจ่างขึ้นสำหรับผู้รับคำปรึกษา แต่ช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาคิดทบทวนภายในตนเอง โดยจัดให้เกิดบรรยากาศที่ช่วยส่งเสริมการ      กระทำดังกล่าว โดยอาศัยการยอมรับตนเองของผู้รับคำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาช่วยให้เขาสามารถแสดงออก พิจารณา และทำให้ประสบการณ์ที่ตรงกัน หรือไม่ตรงกัน ก่อนหน้านี้สามารถประสานเข้าในมโนภาพของตัวตนของเขา บุคคลจะค่อยๆ ยอมรับตนเอง และเรียนรู้ที่จะยอมรับผู้อื่น และกลายเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้น สำหรับโรเจอร์ จึงดูเหมือนว่าหัวใจมีความสำคัญมากกว่าหัวสมองในการให้คำปรึกษา

หลักการทฤษฎียึดบุคคลเป็นศูนย์กลางการบำบัดรักษา

                ทฤษฎียึดบุคคลเป็นศูนย์กลาง  เชื่อว่า มนุษย์เป็นผู้ที่มีเหตุผลมีความสามารถในการแก้ไขปัญหา และสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีความปรารถนาที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ และพร้อมที่จะดำเนินชีวิตร่วมกันในอันที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่การที่มนุษย์ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมนั้น เนื่องจากเขามีความจำเป็นต้องป้องกันตนเองให้อยู่รอด นอกจากนี้ยังเชื่อว่า บุคลิกภาพของมนุษย์เกิดขึ้นจากความคิด ความรู้สึกของบุคคลต่อตนเอง (Self concept) ซึ่ง Self concept นี้จะประกอบไปด้วย

·       ตัวตนในสภาพที่เป็นจริง (Real self)

·       ตัวตนที่เราคิดว่าเราเป็น (Perceived self)

·       ตัวตนในอุดมคติ (Ideal self)

                ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่าปัญหาที่สร้างความทุกข์ของบุคคล เกิดจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างสิ่งที่บุคคลต้องการ กับ สิ่งที่บุคคลเป็นอยู่

Ø ทฤษฎียึดบุคคลเป็นศูนย์กลางนั้นจะเน้นการให้คำปรึกษาแบบไม่นำทาง เพราะมุ่งเน้นในตัวของผู้รับคำปรึกษาจากการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อ การสร้างสรรค์และตระหนักรู้แห่งตนของผู้รับคำปรึกษา ให้ผู้รับคำปรึกษาเห็นความสำคัญต่อการรับผิดชอบ และความสามารถในตัวของผู้รับคำปรึกษาเอง ค้นหาพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับตนเอง ด้วยการเปิดรับประสบการณ์  มีความไว้วางใจในตนเอง เพื่อให้เป็นตัวของตัวเองอย่างที่เป็นอย่างถูกต้อง

Ø ทฤษฎียึดบุคคลเป็นศูนย์กลางเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างสัมพันธภาพของบุคคล  โดยการช่วยเหลือที่ผ่านสัมพันธภาพกับผู้ให้คำปรึกษาที่ให้ความเอาใจใส่  เข้าใจและมีความจริงใจ เป็นสัมพันธภาพกับผู้ให้คำปรึกษาที่มีความสอดคล้องระหว่างพฤติกรรมการแสดงออกกับความรู้สึกและความคิดภายใน มีการยอมรับ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่เน้นการใช้เทคนิคที่ตายตัว ผู้ให้คำปรึกษาจะใช้เจตคติในการเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ  โดยผู้ให้คำปรึกษาควรมีคุณลักษณะของสัมพันธภาพการให้คำปรึกษา ที่จะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยาอย่างเหมาะสม การติดต่อกันทางจิตใจ บุคคลสองคนมีสัมพันธภาพต่อกันและมีผลกระทบซึ่งกันและกัน

                จากทฤษฎียึดบุคคลเป็นศูนย์กลาง ทำให้มองเห็นทัศนะของการมองมนุษย์ของผู้ให้คำปรึกษา ที่ยึดผู้รับคำปรึกษามากกว่าผู้ให้คำปรึกษา ด้านการเป็นศูนย์กลาง การให้ความสำคัญ การมุ่งเน้น และการตัดสินใจของกระบวนการให้คำปรึกษา โดยให้ความสำคัญแก้สัมพันธภาพแหล่งเบื้องต้น เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของผู้รับคำปรึกษา  มองถึงความสำคัญของเจตคติผู้ให้คำปรึกษา มากกว่าเทคนิคในการส่งผลต่อสัมพันธภาพการให้คำปรึกษา และเน้นปัญหาด้านอารมณ์และความรู้สึก

จุดมุ่งหมายของการให้คำปรึกษาแบบยึดบุคคลเป็นศูนย์กลางการบำบัดรักษา

·       เพื่อให้ผู้รับการปรึกษา

·       ค้นพบ เข้าใจ และยอมรับตนเอง

·       หาทางที่จะพัฒนาปรับปรุงตนเองให้เข้ากับความเป็นจริง

·       เข้าใจตนเองว่าอะไรคืออุปสรรคของความเจริญงอกงามของตน

·       รับรู้ถึงสิ่งที่ทำให้รับ รู้ตนเองผิดไปจากความเป็นจริง

เทคนิคในการให้คำปรึกษาแบบยึดบุคคลเป็นศูนย์กลางการบำบัดรักษา

·       การรับฟังอย่างมีประสิทธิภาพ (Intensive Listening )และสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นจริงใจ

·       การยอมรับฟังในเรื่องราวและความเป็นบุคคลของผู้รับการปรึกษาโดยไม่มีเงื่อนไข โดยไม่ตัดสิน

·       การสะท้อนความรู้สึก (Reflection of feeling)

·       การทำให้เกิดความเข้าใจที่กระจ่างชัด (Clarifying)

·       การสนับสนุน (Supportive)

                ผู้ให้การปรึกษาที่ใช้ ทฤษฎี Client–Centered จะเปิดโอกาสและให้ความไว้วางใจ ตลอดจน มอบความรับผิดชอบให้แก่ผู้รับการปรึกษาเป็นอย่างมาก ในเรื่องการตัดสินใจที่จะจัดการกับปัญหาด้วยตัวของผู้รับการปรึกษาเอง
 

ทฤษฎีการให้ปรึกษาแบบอัตถิภาวะนิยม

ทฤษฎีการให้ปรึกษาแบบอัตถิภาวะนิยม

ที่มา

                พัฒนามาจากปรัชญาแนวภวนิยมโดยมี เคิร์กการ์ด บิดาของปรัชญาภวนิยม และนิตเซ่ ได้นำมาพัฒนาโดย มาร์ติน ไฮเด็กเกอร์ คาร์ล เจสเปอร์ ในเยอรมนี และจอง พอล ชาร์ต อัลเบอร์ต คามัส การ์เบียนมาแชล ได้พัฒนาอย่างแพร่หลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากผู้คนตระหนักถึงภัยร้ายของสงคราม เกิดความทุกข์ทรมานจากความรู้สึกสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตของตน รู้สึกเป็นเครื่องจักร รู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก ว้าเหว่ นักจิตวิทยาในยุคนั้น ได้พยายามแสวงหาทางออก

                มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1930 โดยนักจิตวิเคราะห์ 2 ท่าน คือ ลุควิก บินส์เวอนเกอร์ และเมออาร์บอส หลังจากพวกเขาได้อ่านผลงานของเคิร์กการ์ดและมีอีกหลายท่าน เช่น วิคเตอร์ แฟรงเคิล ไม่เห็นดอยกับแนวคิดของฟรอย์ดได้พัฒนาการบำบัดแบบโลโก้ เป็นชาวยิวถูกจับไปกักกันในค่ายนาซี ทุกคนในครอบครัวของเขาเสียชีวิตที่นี้ผลักดันให้เขาต่อสู้ไม่ยอมพายแพ้ต่อสภาพแวดล้อมใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย120 แห่งทั่วโลก มีความเห็นว่าความรักคือเป้าหมายสูงสุดที่มนุษย์พึงปรารถนา บุคคลจะพ้นภัยได้เพราะความรักแม้อยู่ในสภาวะที่โหดร้ายก็สามารถรักษาอิสระทางวิญญาณได้

                โรลโล เมย์ นำเอาปรัชญาแบบภวนิยมจากยุโรปไปสู่อเมริกา ชีวิตที่บ้านไม่มีความสุขเขาประสบความล้มเหลวสองครั้งเขาป่วยเป็นวัณโรคขณะศึกษาปริญญาเอกต้องหยุดพักการศึกษาสองปี ได้แต่งหนังสือหลายเล่มที่สะท้อนถึงลักษณะของมนุษย์ช่วยให้คนค้นพบความหมายของชีวิต ทำให้ชีวิตมีคุณค่า เออร์วิน ยาลอม ได้ใช้ประสบการณ์ทางคลินิกและการวิจัยเชิงทดลงในการพัฒนาวิธีการแบบภวนิยม

ทรรศนะเรื่องธรรมชาติมนุษย์

                1. มนุษย์มีคุณค่าเอกลักษณ์เฉพาะตน ดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี บุคคลต้องให้ความสำคัญกับตนเองเท่าๆ กับให้ความสำคัญในการสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น ต้องรู้จักและสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตามลำพัง บุคคลอาจสูญเสียความเป็นตัวเองโดยดำเนินชีวิตตามความคาดหวังของผู้อื่นหรือดำรงชีวิตตามที่ผู้อื่นกำหนด ค้นหาค่านิยมจากคนสำคัญของโลกมากว่าค้นหาคำตอบภายในตนเอง พยายามสร้างความพึงพอใจให้คนอื่นยอมรับ

                2. มีเสรีภาพในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเองเมื่อมนุษย์ขาดเสรีภาพทางสังคมแต่มาสามรถลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลงได้ สิ่งแวดล้อมไม่ได้กำหนดตัวเราแต่เราเป็นผู้กำหนดตัวเราเองว่าจะยอมแพ้หรือต่อสู้ การดำรงชีวิตที่ไม่แท้จริงคือการกล่าวโทษตำหนิสิ่งแวดล้อม และการเลือกนั้นต้องมีความรับผิดชอบด้วยเหมือนผู้สร้างชีวิตและสร้างปัญหาให้ตนเอง

                3. มนุษย์มีความตระหนักรู้ในตนเอง ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตตนเอง ตัดสินใจสร้างทางเลือกได้อย่างอิสระ หากเลือกจากความเห็นของคนอื่นเขากำลังแสวงหาการยอมรับจากผู้อื่นแทนที่จะเป็นตัวของตัวเอง

                4. มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีสังคมและสิ่งแวดล้อม

                5. มนุษย์ไม่ใช่ตัวตนที่คงที่มีความยืดหยุ่นและวิวัฒนาการตลอดเวลา

                6. ชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีความหมาย บุคคลมีการแสวงหาความหมายของชีวิต ความต้องการความหมายของชีวิตเป็นแรงจูงใจอันดับแรกของมนุษย์ มนุษย์พร้อมที่จะเผชิญกับความยากลำบากต่างๆ ตราบที่เขามองเห็นความหมายในสิ่งนั้น

ขั้นตอนการปรึกษา

1. ขั้นเริ่มต้น สร้างสัมพันธภาพที่มีความเคารพ

2. ขั้นดำเนินการให้การปรึกษา เน้นการรับรู้ในปัจจุบันที่นี่และเดี๋ยวนี้

2.1 ทำความเข้าใจกับประสบการณ์ของผู้รับการปรึกษา

2.2 ช่วยให้ผู้เข้ารับการปรึกษารับรู้และตระหนักถึงความมีอยู่ของตน

2.3ช่วยให้ผู้เข้ารับการปรึกษาค้นหาความหมายและเป้าหมายของชีวิต

2.4 ช่วยให้ผู้เข้ารับการปรึกษาได้รับรู้และให้เสรีภาพของตนอย่างเต็มที่

2.5 ช่วยให้ผู้เข้ารับการปรึกษาสามารถเลือกสิ่งที่มีคุณค่าต่อตน

2.6 ช่วยให้ผู้เข้ารับการปรึกษารับผิดชอบในสิ่งที่เลือกและการกระทำของตน

2.7 ช่วยให้ผู้เข้ารับการปรึกษาเชื่อมั่นในการตัดสินใจและนำตนเองสู่จุดหมาย

3. ขั้นยุติการปรึกษา เปิดโอกาสให้ทบทวนสิ่งที่ได้รับอาจให้ข้อมูลย้อนกลับเพิ่มเติมตามทรรศนะคติภวนิยม

เทคนิคการให้การปรึกษา

                ไม่มีเทคนิคอย่างชัดเจน มีอิสระที่จะบูรณาการเทคนิคต่างๆ มาใช้ โดยต้องใช้ด้วยความเคารพในความเข้าใจของผู้รับการปรึกษา โดยกระตุ้นให้เขาตระหนักว่าเขาเป็นบุคคลที่มีอิสระมีบทบาทเป็นผู้เลือก เช่น อาจใช้เทคนิคการให้การปรึกษาแบบเกสตัลท์หรือแบบวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบจิตวิเคราะห์หรือแบบผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง อาจแบ่งได้เป็นข้อดังต่อไปนี้

1. วิธีเผชิญความจริงให้กล้ายอมรับความจริง

2. อธิบายให้เขาเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขา

3. ให้เขาเรียนรู้วิธีตัดสินใจอย่างถูกต้อง

4. อธิบายด้วยเหตุและผลให้ผู้รับบริการเข้าใจปัญหาของตน

5. วิธีหันเหความสนใจโดยทำให้โกรธหรือมีอารมณ์ขันเพื่อหันความสนใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมองเหตุการณ์นั้นด้วยมุมมองใหม่

                เป็นทฤษฏีการให้คำปรึกษาที่ใช้แก้กับปัญหาสำหรับผู้ที่มีทุกข์ระดับอารมณ์และความรู้สึกโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า  ความหมายของความเป็นมนุษย์คืออะไร  เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับปรัชญาที่ว่าความหมายของชีวิตคืออะไร  ทฤษฏี  Existentialism  นี้นับเป็นกระแสที่  3  ในวงการจิตวิทยาและการให้คำปรึกษา เป็นการตอบโต้ทฤษฏีจิตวิทยาวิเคราะห์และพฤติกรรมนิยม  ผู้ให้คำปรึกษา  Existentialism  นี้ยืนยันที่จะไม่ตัดสินมนุษย์  จุดสนใจของผู้ให้คำปรึกษาทฤษฏีนี้อยู่ที่เงื่อนไขของความเป็นมนุษย์ซึ่งรวมถึงความสามารถที่จะมีสติเป็นของตัวเอง  มีอิสระในการตัดสินใจในโชคชะตาของตนเองแต่จะต้องรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากขึ้นการตัดสินใจ  อีกทั้งวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลที่เป็นไปอย่างไร้ความหมายอันแตกต่างไปจากผู้อื่น  ก็เป็นจุดสนใจของทฤษฏี  เช่นกัน ทฤษฏีนี้เชื่อว่าพัฒนาการทางบุคลิกภาพของคนปกติขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละคน  ความรู้สึกที่บุคคลมีต่อเองพัฒนามาจากสภาพความเป็นทารก  ความคิดหลักของมนุษย์  ได้แก่  ข้อกำหนดที่จะต้องปฏิบัติของตนเอง และความต้องการที่ จะก้าวไป ข้างหน้าอันเป็นความต้องการที่จะแสดงออก  หรือต้องการจะเป็นอะไรสักอย่าง  ซึ่งเป็นวิธีการที่มีทิศทางในอนาคต  และเน้นที่การมีสติก่อนที่จะลงมือกระทำการใด    บุคคลสำคัญในทฤษฏี  Existentialism   นี้ได้แก่   Binswanger  May  และ  Frankl

ความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์

                ทฤษฎีนี้เชื่อว่ามนุษย์เรามีอิสรภาพ (Freedom) ที่จะแสวงหากำหนดกฎเกณฑ์และความหมายให้ชีวิตของตนเอง (Meaning  of  life)  มีอิสรเสรีภาพเฉพาะตัว  และเราไม่สามารถจะทำนายพฤติกรรมของมนุษย์ล่วงหน้าได้  การที่คนเรามีอิสระที่จะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใด  หรือเลือกว่าจะเป็นผู้ให้หรือรับต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม   เราจะต้องรับผิดชอบ (Responsibility)  ต่อการกระทำและผลที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตนเอง

โครงสร้างบุคลิกภาพและพัฒนาการ

                  คนเรามีชีวิตอยู่เพื่อที่จะหาความหมายให้กับชีวิต(Meaning  of  life)  ของตนเอง  อยู่ไปทำไมหรืออยู่ไปเพื่ออะไร   ซึ่งความหมายของชีวิตหรือความรับผิดชอบของมนุษย์แต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกันออกไป    อันเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมเฉพาะที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน

เป้าหมายของการให้คำปรึกษา

           เพื่อเป็นการช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดสภาพการรู้จักตนเอง  เข้าใจถึงศักยภาพของตนเองเข้าใจโลกและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ทราบวิธีการจัดอุปสรรค์ที่จะมาขัดขวางการเพิ่มพูนศักยภาพภายในตนเองผู้ให้คำปรึกษาจะพยายามช่วยผู้รับคำปรึกษาได้ใช้ศักยภาพของตนเอง  ในการเลือกหาความหมายของชีวิตให้เหมาะสมกับตนอย่างมีอิสรเสรีภาพ ( Freedom)  แต่ผู้รับคำปรึกษาจะต้องรับผิดชอบ (Responsibility) ต่อการตัดสินใจเลือกเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของตนเอง

เทคนิคและอุปกรณ์ใช้ในการให้คำปรึกษา
                เทคนิคที่ทฤษฏี   Existentialism   เน้นเป็นเบื้องต้นก็คือ  ความเข้าใจความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำให้คำปรึกษาส่วนเทคนิคอื่น  ๆนอกเหนือนี้  มักจะยืมเทคนิคจากทฤษฏีอื่นมาใช้ผสมผสานเข้าด้วยกัน  เช่นใช้วิธีการวิเคราะห์ทางจิต  โดยนำเอาเทคนิค Free Association  มาใช้  โดยผู้ให้คำปรึกษาจะป้อนคำถามและให้ผู้รับคำปรึกษาตอบคำถามนั้นทันทีโดยไม่ต้องคิดเช่น

ทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยม

ทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยม

ประวัติผู้ก่อตั้งทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยม
                บี. เอฟ. สกินเนอร์  เกิดที่มลรัฐเพนซิลวาเนีย  บิดาของสกินเนอร์เป็นผู้ที่ขยันขันแข็งในการทำงาน  และพยายามฝึกอบรมให้เขารู้จักแยกแยะถูกผิด  สกินเนอร์เขียนเล่าในประวัติว่า  มารดาของเขาพยายามจะควบคุมเขา  โดยการตักเตือนให้เขาคิดว่าผู้คนจะคิดอย่างไรถ้าเขาทำผิด  ไม่ยอมอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง  นอกนี้ยายของเขายังเล่าเกี่ยวกับไฟจากนรก  ที่ลงโทษคนกระทำความผิด  บิดาของเขาเป็นนักกฎหมายและได้พาเขาไปดูเรือนจำ  พร้อมทั้งพูดให้เขาฟังอยู่เสมอถึงโทษที่รับหากทำผิดกฎหมาย 
                ในวัยเด็กสกินเนอร์มีความสนใจในเครื่องจักรกล  ในวัยผู้ใหญ่เขาสนใจในเรื่องการออกแบบเครื่องมือ  สิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งของเขาคือ  กล่องสกินเนอร์  เพื่อศึกษาผลของการใช้ตารางการเสริมแรงกับพฤติกรรมของสัตว์  และเขายังได้คิดเครื่องมือช่วยสอนและเปลนอนติดแอร์สกินเนอร์  เป็นห้องเก็บเสียงและรักษาระดับอุณหภูมิ  ซึ่งเขาใช้เลี้ยงลูกสาวคนหนึ่งของเขาเป็นเวลามากกว่า ๒ปี  สกินเนอร์แสดงความสนใจในพฤติกรรมมนุษย์ด้วยการศึกษาจิตวิทยา และได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ในปีค.ศ. ๑๙๓๑  เขาตั้งทฤษฎีพฤติกรรมที่ปฏิเสธเชื่อของมนุษย์  เป็นผู้ที่มีอิสระในการกำหนดโชคชะตาของตนเอง  เขาเชื่อพฤติกรรมและบุคลิกภาพถูกกำหนดโดยเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบันที่วัดได้  สกินเนอร์แสดงความเห็นว่านักจิตวิทยาควรให้ความสำคัญกับพฤติกรรมที่สังเกตได้เท่านั้น  พันธุกรรมและประวัตส่วนบุคคล  มีส่วนรับผิดชอบกับพฤติกรรมปัจจุบันบางส่วนเท่านั้น  นอกจากนี่สกินเนอร์ยังมีความสนใจในพฤติกรรมของสัตว์  โดยในช่วงหลังของการทำงานเขาได้ฝึกพิราบเล่นปิงปอง

แนวคิดที่สำคัญทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยม
การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก
                พาฟลอฟนักสรีรวิทยาชาวรัสซียเป็นผู้สอนหลักการเรียนรู้นี้  การศึกษาของเขาวางเงื่อนไขให้สุนัขนำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง  เขาแสดงให้เห็นว่าการวางสิ่งเร้าที่ไม่ต้องวางเงื่อนไข  คือเศษเนื้อ  เสตอพร้อมกับสิ่งเร้าที่ต้องวางเงื่อนไข  คือเสียงกระดิ่ง  หลังจากได้ยินเสียงกระดิ่งโดยไม่เห็นอาการที่เป็นเศษเนื้อ  สุนัขจะหลั่งน้ำลาย 
  
การวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำ
                สกินเนอร์เป็นผู้คิดหลักการนี้  เขาเสนอว่าความถี่ของพฤติกรรมที่แสดงขึ้นอยู่กับผลที่ตามมาหลังพฤติกรรมนั้น  สกินเนอร์นำความคิดนี้ไปใช้ในการปรับพฤติกรรมของนกพิราบ  โดยการให้อาหารเป็นรางวัล  จนกระทั้งนกพิราบเรียนรู้ที่จะจิกวงกลมสีแดง  พฤติกรรมที่แสดงเพิ่มมากขึ้นเรียกว่า ได้รับการเสริมแรง

 การเรียนรู้ทางสังคม
                ผู้เสนอความคิดนี้ คือ อัลเบิร์ต แบนดูรา  เขาคิดว่าการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมยังเกิดจากการสังเกต  การเลียนแบบพฤติกรรมผู้อื่น  หรือการเรียนรู้จากตัวแบบ  ซึ่งมีทั้งการเรียนรู้จากตัวแบบที่ดีและไม่ดี  การเรียนรู้จากตัวแบบค่อนข้างจะมีอิทธิพลกับบุคคล  เพราะช่วยลดความรู้สึกกลัวต่องานที่ยาก  และยังช่วยกระตุ้มให้พยายามเลียนแบบให้สำเร็จ  การทดลองของแบนดูราแสดงให้เห็นว่าเด็กที่สังเกตผู้ใหญ่  จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว  และมีแนวโน้มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ไม่ได้ตัวแบบแสดงให้เห็น  การเรียนรู้จากตัวแบบอธิบายได้ค่อนข้างชัดเจนต่อพฤติกรรมความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

 กระบวนการให้การปรึกษาทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยม
เป้าหมายของการปรึกษา
                เป้าหมายโดยทั่วไปของการให้การปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยม คือ การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง  และเป็นที่พึงปรารถนาโดยการวางแผนอย่างเป็นระบบและมีความสม่ำเสมอ   สำหรับเป้าหมายเฉพาะเจาะจง  เป็นสิ่งที่กำหนดรวมกันระหว่างผู้ให้การปรึกษากับผู้รับการปรึกษาแต่ละราย  เป้าหมายที่กำหนดขึ้นนั้นต้องมีความชัดเจน  เป็นรูปธรรมและดำเนินการตกลงร่วมกันเป็นสัญญา  เพื่อชี้นำการปรึกษาและการบำบัด

บทบาทและหน้าที่ของผู้ให้การศึกษา
๑.      ผู้ให้การปรึกษามีหน้าที่ทำความเข้าใจปัญหาของผู้รับการปรึกษาอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะวางแผนดำเนินการจัดการกับปัญหา
๒.    มีบทบาทสร้างแรงจูงใจ  แก่ผู้รับการปรึกษาให้เกิดความมั่นใจต่อการแก้ไขปัญหา
๓.     ร่วมมือกับผู้รับการปรึกษาในการวิเคราะห์ปัญหา  ตลอดจนวางแผนและประเมินวิธีการจัดการกับพฤติกรรม
๔.     ช่วยผู้รับการปรึกษาละลายพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ  และเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสมเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
๕.     มีหน้าที่แสวงหาประสบการณ์และเพิ่มเติมความรู้ต่อการปรับพฤติกรรม  และทำหน้าที่เป็นผู้ให้การเสริมแรงพฤติกรรมของผู้รับการปรึกษา  ตลอดตนเป็นผู้แนะนำเพื่อช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเปลี่ยนแปลง
๖.      เป็นผู้เชี่ยวชาญในการประยุกต์เทคนิคต่างๆ  ของทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา
๗.     แสดงบทบาทเป็นตัวแบบแก้ผู้รับการปรึกษา  เพราะการเรียนรู้ส่วนมากเกิดจากการมีประสบการณ์โดยตรง  ดังนั้นผู้รับการปรึกษาสามารถเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ได้จากการเลียนแบบ

ขั้นตอนการปรึกษา
                เนื่องจากให้บริการปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยมอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีการเรียนรู้  ซึ่งเน้นพฤติกรรมที่สังเกตได้  วัดได้  และประเมินได้  โดยไม่คำนึงถึงพฤติกรรมภายใน  ดังนั้นการให้บริการปรึกษาจึงมีขั้นตอนที่ชัดเจน  คือ การระบุพฤติกรรมที่เป็นปัญหา  การตั้งเป้าหมาย  การช่วยให้ผู้รับการปรึกษาบรรลุเป้าหมาย  และประเมินเป้าหมาย
๑.       การระบุพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
                การให้คำปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยมเน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้  ดังนั้นการระบุพฤติกรรมที่เป็นปัญหาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ  ในขั้นแรกจึงต้องระบุให้ชัดเจนว่า พฤติกรรมที่เป็นปัญหาคือพฤติกรรมอะไร
Ø ในการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมนอกจากการฟังและการสังเกตแล้วถ้าหากปัญหายังไม่ชัดเจนผู้ให้การปรึกษาอาจใช้เครื่องมืออย่างอื่นก็ได้  เช่น  บันทึกประจำวัน  หรือเครื่องมืออย่างอื่นที่จำเป็น 
Ø ในการเก็บรวบรวมข้อมูลดังกล่าวผู้ให้คำปรึกษาจะต้องใช้เทคนิคการสร้างความสัมพันธ์กับผู้รับคำปรึกษาเพื่อให้เกิดความไว้วางใจและร่วมกันแก้ปัญหา

๒.     การตั้งเป้าหมาย
                เมื่อรู้ว่าพฤติกรรมใดเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหาแล้ว  ผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำปรึกษาต้องร่วมกันตั้งเป้าหมายในการแก้ไขพฤติกรรม  หมายถึง  การกำหนดว่าผู้รับคำปรึกษาจะแก้ไขพฤติกรรมอะไร  ต้องแสดงพฤติกรรมอะไร  เนื่องจากการให้คำปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยมมีเป้าหมายเพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดการเรียนรู้ใหม่ที่ถูกต้องและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เป็นที่พึงปรารถนา  ผู้รับคำปรึกษาจะต้องรู้ว่าพฤติกรรมที่พึงปรารถนาคืออะไร  ครัมโบลท์  และธอเรสเซน  กล่าวถึงเกณฑ์การตั้งเป้าหมายว่า 
Ø ผู้รับคำปรึกษาจะต้องเป็นผู้ตั้งเป้าหมายเอง
Ø ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องช่วยผู้รับคำปรึกษาไปสู่เป้าหมาย
Ø เป็นเป้าหมายที่สามารถประเมินได้
                ดังนั้น  เป้าหมายที่ดีต้องเป็นเป้าหมายที่ผู้รับคำปรึกษากำหนดเอง  เป็นเป้าหมายที่เกิดจากความต้องการของผู้รับคำปรึกษา  เป้าหมายนั้นต้องชัดเจนและเฉพาะเจาะจงจึงจะทำให้การให้คำปรึกษาบรรลุเป้าหายเร็วขึ้น
๓.       การช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาไปสู้เป้าหมาย
การให้คำปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยมนั้น  ผู้ให้คำปรึกษาต้องเป็นผู้ที่กระฉับกระเฉง  ว่องไว  มีบทบาทและหน้าที่ในการจัดประสบการณ์  ให้ผู้รับคำปรึกษาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่พึงปรารถนา  ในการช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาไปสู้เป้าหมาย  คือพฤติกรรมเป็นที่พึงปรารถนานั้น  ผู้ให้คำปรึกษามีบทบาทและหน้าที่ดังนี้
Ø เป็นผู้ชี้แนะแนวทาง
Ø เลือกใช้เทคนิคให้เหมาะสมกับปัญหา
Ø เป็นตัวแบบ
Ø จูงใจให้ผู้รับคำปรึกษาแก้ไขพฤติกรรม
                จากบทบาทและหน้าที่ดังกล่าวทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ให้คำปรึกษา  ทำหน้าที่วางเงื่อนไขและควบคุมพฤติกรรมของผู้รับคำปรึกษานั้นเอง  สำหรับผู้รับคำปรึกษานั้นต้องมีความตั้งใจแน่วแน่ในการเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง  ให้ความร่วมมือในการใช้เทคนิคต่างๆ  มีความกระตือรือร้นในการแสดงพฤติกรรมใหม่
                วิธีการช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาไปสู้เป้าหมายนั้น  ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องอธิบายความจำเป็นพื้นฐานในการให้คำปรึกษา  ทั้งผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษาจะต้องร่วมกันทำงานไปสู้เป้าหมายที่ยอมรับร่วมกัน  และการช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาแก้ไขพฤติกรรมนั้นผู้ให้คำปรึกษาต้องทำงานร่วมกับครูและผู้ปกครองของผู้รับคำปรึกษา
๔.       การประเมินเป้าหมาย
                การประเมินเป้าหมาย  หมายถึง  การประเมินผลการให้คำปรึกษาว่าบรรลุเป้าหมายหรือไม่  การประเมินผลการให้คำปรึกษาอาจทำได้โดยให้ผู้รับคำปรึกษารายงานผลความคืบหน้าของพฤติกรรมที่ตนต้องการแก้ไข  ถ้าไม่ได้ผลให้กลับไปวิเคราะห์พฤติกรรมและใช้เทคนิคใหม่

เทคนิคและวิธีการต่างๆ ในการให้คำปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยม
                ๑.       Desensitization  เดิมชื่อเรียกว่า Reciprocal  Inhibition หรือ Systematic Desensitization  หลักการของวิธีการนี้คือ  บุคคลไม่สามารถผ่อนคลายและรู้สึกกลัวในขณะเดียวกัน  ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาต้องร่วมกันกำหนดระดับของสิ่งที่เร้าให้เกิดความวิตกกังวล  ซึ่งอาจเป็นวัตถุ  เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เร้าความรู้สึกกลัวจากน้อยไปสู้ความกลัวมากที่สุด  ผู้รับการปรึกษาจะถูกสอนให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ  วิธีผ่อนคลายมีหลายวิธี  อาจใช้การสะกดจิต  การเปิดเทปผ่อนคลายหรือสอนการผ่อนคลายโดยตรง  หลังจากที่ผู้รับการปรึกษาเรียนรู้การผ่อนคลายได้อย่างแท้จริง  ผู้ให้การปรึกษาเริ่มบรรยายถึงสิ่งที่เร้าความวิตกกังวลในขั้นน้อยที่สุด  และให้ผู้รับการปรึกษาจินตนาการรายละเอียดร่วมด้วย  ถ้าผู้รับการปรึกษาสามารถผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้โดยไม่รู้สึกวิตกกังวลกับสิ่งเร้าระดับนี้  ผู้ให้การปรึกษาจะบรรยายถึงสิ่งเร้าในระดับที่สูงขึ้นในขณะที่ผู้รับการปรึกษาผ่อนคลายกล้ามเนื้อ  ถ้าผู้รับการปรึกษาไม่รู้สึกผ่อนคลายกับสิ่งเร้าบางระดับ  ผู้ให้การปรึกษาจะหยุดบรรยายและให้ผู้รับการปรึกษาผ่อนคลายกล้ามเนื้อใหม่  จนกว่าจะสามารถผ่อนคลายได้เมื่อนำสิ่งเร้านั้นกลับมาเสนอใหม่  ผู้ให้การปรึกษาจะดำเนินการเช่นนี้จนกว่าผู้รับการปรึกษาจะผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้หมดกับสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความกังวลในทุก
                ๒.     การลดภาวะ  (Extinction)  หมายถึง  พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ลดปริมาณลงจนหยุดพฤติกรรมหากไม่ได้รับการเสริมแรง  วิธีการลดความวิตกกังวลโดยอาศัยหลักการลดภาวะ  คือ  การทำให้ผู้ที่รู้สึกวิตกกังวลต้องเผชิญกับสิ่งนั้น  จนระดับความวิตกกังวลสูงขึ้น  โดยธรรมชาติสภาวะทางร่างกายที่แสดงถึงอาการวิตกกังวลจะดำรงอยู่ได้นานไม่เกิน ๒๐-๓๐ นาที  หลักจากนั้นระบบพาราซิมพเทติก  จะทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของระบบซิมพาเทติก  อาการวิตกกังวลจะค่อยๆ ลดลง
        สำหรับวิธี Implosive  Therapy หรือ Implosion  ได้นำเอาหลักการลดภาวะมาใช้  โดยการให้ผู้รับการปรึกษาจินตนาการถึงสิ่งที่เร้าความวิตกกังวล  การจินตนาการซ้ำๆ  จะทำให้ผู้รับการปรึกษาสูญเสียพลังที่จะกระตุ้นให้รู้สึกวิตกกังวล  และในที่สุดความกลัวที่ไม่สมเหตสมผลก็จะหมดไป  แสตมเฟิลและลูอิสรายงานการใช้วิธีนี้กับผู้รับการปรึกษาเพศหญิง  ซึ่งไม่สามารถว่ายน้ำได้เพราะกลัวจะจมน้ำตาย  ความกลัวมีมากขึ้นถึงขั้นสวมห่วงชูชีพเมื่ออาบน้ำในอ่าง  เขาบอกให้หล่อนจินตนาการว่ากำลังอาบน้ำ  ในอ่างอาบน้ำที่ไม่มีก้น  โดยไม่สวมชูชีพ  ให้จินตนาการประมาณ ๑ นาที  ในตอนต้นๆ  ผู้รับการปรึกษาแสดงความวิตกกังวลอย่างมาก  แต่ผู้ให้การปรึกษาก็บอกให้จินตนาการภาพนั้นซ้ำๆ  การจินตนาการภาพเหตุการณ์ที่เร้าความวิตกกังวลจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ    และเมื่อผู้รับการปรึกษาสามารถเผชิญกับสิ่งที่เร้าความวิตกกังวลได้มากที่สุด  อาการกลัวก็จะหายไป
๓.      การลงโทษ (Punishment)  วิธีการลงโทษด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าช็อต  เป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้มากที่สุด  เช่น  การช็อตไฟฟ้าควบคู่การดื่มสุรา  หลังจากทำแบบนี่หลายครั้ง  สุราจะถูกวางเงื่อนไขให้เป็นสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกไม่ดี /เจ็บปวด บุคคลจะหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา
                Aversion Therapy  เป็นการบำบัดแบบลงโทษ  ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อแก้นิสัยบางอย่าง  การลงโทษประสบผลสำเร็จกับการแก้นิสัยบางอย่าง  แต่ถ้านำมาใช้กับการแก้ปัญหาอย่างอื่น  การลงโทษอย่างเดียวไม่มีประสิทธิภาพพอ  การศึกษาพบว่าการแก้ไขการสูบบุหรี่  และการรับประทานอาหารมาก  ควรใช้ทั้งการลงโทษและวิธีอื่นร่วมด้วย
                Covert Sensitization  หมายถึง  การจินตนาการว่าสิ่งเร้าให้โทษแทนการถูกทำโทษจริง  เพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่  วิธีนี้ตรงข้ามกับวิธี Desensitization  เกือบสิ้นเชิง  กล่าวคือ  ผู้รับการปรึกษาถูกสอนให้จินตนาการถึงสิ่งที่เร้าความวิตกกังวล  เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งเร้านั้นในที่สุด

เทคนิคที่อาศัยหลักการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ (Operant  Conditioning)
                ๑.        การฝึกทักษะทางสังคม
เทคนิคที่ใช้ได้แก่  การอธิบาย  การแสดงเป็นแบบอย่าง  และการแสดงบทบาท  บางครั้งอาจใช้หลักการของ การดัดพฤติกรรม  และการฝึกหัดภายในมาร่วมด้วย  การดัดพฤติกรรมหมายถึง  การให้ผู้รับการปรึกษามีพฤติกรรมที่ค่อยๆ  นำไปสู่พฤติกรรมที่ต้องการ  แต่ละพฤติกรรมที่ใกล้เคียงหรือเข้าใกล้พฤติกรรมที่ต้องการจะได้รับรางวัล 
การฝึกหัดภายใน  หมายถึง  การฝึกหัดโดยการจินตนาการเห็นภาพตนเองแสดงทักษะทางสังคมได้ดีมาก 
สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งคือ  การบอกสิ่งที่ผู้รับการปรึกษาต้องปรับปรุงจากการทดลองแสดงบทบาท  และใช้คำชมสำหรับสิ่งที่แสดงดีแล้ว  ทั้งนี้ผู้ให้การปรึกษาจะต้องระบุอย่างชัดเจนเป็นพฤติกรรมที่วัดได้  มีการบันทึกวิดีโอและเปิดให้ผู้รับการปรึกษาดู  ซึ่งเป็นวิธีการให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างมีประสิทธิภาพ
                ๒.      การปรับพฤติกรรม
เทคนิคการปรับพฤติกรรมมีชื่อเรียกหลายอย่าง  โดยใช้หลักการวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำ  เทคนิคนี้ใช้หลักการไม่ซับซ้อน  โดยให้รางวัลเพื่อสร้างความถี่ของพฤติกรรมที่พึงประสงค์  และการไม่เสริมแรงกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์  หลักการนี้ถูกนำมาใช้เพื่อให้เกิดการลดภาวะ  ในการฝึกอบรมบิดามารดา  (เพื่อปรับพฤติกรรมเด็ก)  การให้เบี้ยรางวัล  ในโรงพยาบาล  และการทำสัญญาเรื่องพฤติกรรม
                ๓.       การฝึกอบรมบิดามารดา
                ผู้ให้การปรึกษาแสดงบทบาทเป็นครูสอนเทคนิคการวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำ  การสอนอาจสอนเป็นกลุ่ม  เป็นคู่  หรือสอนเป็นรายบุคคล  โดยพื้นฐานบิดามารดาถูกสอนให้งดรางวัล  กับพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ  แต่ให้รางวัลกับพฤติกรรมที่พึงประสงค์  บิดามารดาจะต้องสื่อสารให้บุตรเข้าใจอย่างชัดเจนว่า  พฤติกรรมแบบไหนที่พึงประสงค์  นอกจากนี้บิดามารดาต้องมีความสม่ำเสมอในการให้และงดรางวัลแก่เด็ก ให้รางวัลที่เหมาะสมกับความต้องการเด็ก  และลดพฤติกรรมในทางลบของการเป็นบิดามารดา  หลักการง่ายๆ นี้บางครั้งเป็นเรื่องยากสำหรับบิดามารดาบางคนที่ไม่รู้จักแสดงความอบอุ่นหรือความรักต่อลูก  ดังนั้นจะกล่าวชมเชยลูกเมื่อมีพฤติกรรมที่ตรงใจบิดามารดาบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ลำบากใจ  ผู้ให้การปรึกษาควรนำประเด็นนี้มาพูดคุยก่อนจะให้บิดามารดานำเทคนิคการเสริมแรงไปใช้
                ๔.       การทำให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กเข้าสู่ขั้นการลดภาวะ โดยการใช้เวลานอก
                การใช้เวลานอกหมายถึงการนำเด็กออกมาจากสถานการณ์ที่เด็กได้รับรางวัลไปสู่สถานการณ์ที่เด็กไม่ได้รับรางวัลทางสังคม  ดังนั้นการใช้เวลานอกจึงจัดให้เป็นการลงโทษทางลบ  เพราะสิ่งที่พึงพอใจถูกขจัดไป 
                จากผลงานการวิจัยหลายชิ้นพบว่า  การใช้เวลานอก  เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมพฤติกรรมที่มีปัญหาของเด็ก  พ่อแม่และเด็กรู้สึกพึงพอใจกับวิธีการ  นอกจากนี้พฤติกรรมด้านอื่นๆ  ของเด็ดมีพัฒนาการที่ดีขึ้น  รวมทั้งพฤติกรรมของพี่น้องของเด็กที่ถูก ใช้เวลานอกด้วย
                ๕.      เบี้ยรางวัล
                เบี้ยรางวัลเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้แทนเงินจริง  ในการให้แรงเสริมกับพฤติกรรมที่พึงประสงค์  จำนวนเบี้ยที่ถูกสะสมได้จะถูกนำมาแลกเป็นสิ่งต่างๆ  แล้วแต่จะกำหนดว่าให้เป็นอะไร
                ๖.        การทำสัญญาเรื่องพฤติกรรม
                เป็นการทำสัญญาพฤติกรรมระหว่างผู้รับการปรึกษา  กับผู้ให้การปรึกษา  ถ้าเขาลงมือปฏิบัติตามแผนเขาจะได้รับรางวัลจากผู้ให้การปรึกษา   สัญญาที่ทำนอกจากจำกำหนดพฤติกรรมที่ได้รับรางวัลแล้วยังกำหนดการลงโทษด้วยการงดรางวัลที่เคยได้ถ้าไม่สามารถกระทำพฤติกรรมที่ตกลงกันได้เรียกว่า Response Cost  
                ๗.      การลงโทษ
                ปกติแล้วผู้รับการปรึกษาไม่แสดงพฤติกรรมตามที่ตกลงไว้  การลงโทษที่ใช้คือ Response Cost  เป็นการงดตัวเสริมแรงทางบวก
                ๘.      การจัดการ / การควบคุมตนเอง
                นักพฤติกรรมบำบัดสอนให้ผู้รับการปรึกษาใช้หลักการให้รางวัลและหลักการปรับพฤติกรรม  เพื่อจัดการกับพฤติกรรมของตน  เริ่มต้นโดยให้ผู้รับการปรึกษา  กำหนดปัญหาและกำหนดพฤติกรรมที่พึงประสงค์  หลังจากนั้นให้บันทึกประเมินพฤติกรรมที่ต้องปรับปรุงในทุกสัปดาห์  การทำบันทึกประเมินพฤติกรรมมีผลทำให้เพิ่มความรู้ตัวมากขึ้น  ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษาร่วมกันกำหนดพฤติกรรมที่สร้างขึ้นใหม่  โดยที่ผู้ให้การปรึกษาจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบริบทและเวลาที่กำหนดไว้  การควบคุมตนเองนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  Self-monitoring  ถ้าผู้รับการปรึกษาสามารถควบคุมตนเองได้ตามที่กำหนดไว้เขาจะให้รางวัลตนเอง


ข้อดี           
๑.      เป็นการให้การปรึกษาที่จัดการโดยตรงกับอาการหรือปัญหา  ผู้รับการปรึกษาส่วนมากแสวงหาการช่วยเหลือเพราะมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับตน ดังนั้นผู้ให้การปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยมจะดำเนินการช่วยเหลือได้ค่อนข้างทันควันกับปัญหาที่นำเสนอ
๒.     ให้ความสำคัญกับขณะปัจจุบัน  ผู้รับการปรึกษาไมจำเป็นต้องสำรวจอดีตเพื่อได้รับความช่วยเหลือในปัจจุบัน  วิธีเช่นนี้จะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
๓.     ผู้ให้การปรึกษามีโอกาสเลือกเทคนิคหลายชนิด  ทำให้สามารถเลือกใช้เทคนิคได้อย่างเหมาะสมกับหน่วยงานที่สังกัดนอกจากนี้ผู้ให้การปรึกษามีโอกาสเลือกอ่านวารสารที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหลายฉบับ  เนื่องจากมีวารสารที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก
๔.     ทฤษฎีนี้ได้รับการสนับสนุนจาก The Association for the Advance of  Behavior Therapy  นอกจากนี้ยังส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้การปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยมและปกป้องสาธารณชนจากผู้ให้การปรึกษาที่ทำหน้าที่ไม่เหมาะสม
๕.     เป็นการให้คำปรึกษาที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์  ทำให้มีการนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย
๖.      เป็นทฤษฎีที่ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยมากมายถึงประสิทธิภาพของการใช้เทคนิคในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
๗.     การกำหนดปัญหาและการจัดการกับปัญหากระทำอย่างเป็นปรวิสัย  กระบวนการปรึกษาค่อนข้างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

ข้อจำกัด
๑.       การให้การปรึกษาไม่ได้จัดการกับบุคคลโดยภาพรวม  เพราะดำเนินการเฉพาะกับพฤติกรรมที่สังเกตเห็นภายนอก  นักพฤติกรรมบำบัดหลายคนได้กระทำการเสมือนเป็นการจำกัดบุคลิกภาพของมนุษย์  เพราะมองเฉพาะพฤติกรรมที่แสดงออกของสภาพแวดล้อม  การให้ความสำคัญเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมหรือการตอบสนองกับตัวเสริมแรงในสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ดูง่ายเกินไปในการอธิบายปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งข้อเท็จจริงเป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อน
๒.     การนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้  บางครั้งกระทำเสมือนช่างที่ปฏิบัติงานตามขั้นตอน  นั้นคือข้อผิดพลาดส่วนใหญ่ของนักพฤติกรรมบำบัดมือใหม่ คือการเริ่มต้นใช้เทคนิคมากเกินไป  โดยไม่ระมัดระวังในการสร้างสัมพันธภาพและพยายามให้ผู้รับการปรึกษามีส่วนร่วม  แต่ก็มีนักพฤติกรรมบำบัดอีกจำนวนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการมีสัมพันธภาพ  ลักษณะที่ไม่เป็นเอกภาพเช่นนี้ส่งผลให้เกิดภาพลบต่อการช่วยเหลือ

 สรุป
          การให้คำปรึกษาแบบพฤติกรรมนิยมได้พัฒนาขึ้นระหว่างศตวรรษที่ ๒๐  จากงานวิจัยของ บี เอฟ สกินเนอร์ , อีวาน  พาฟลอฟ จอห์น บี วัตสัน , โจเซฟ โวลเป้  เป็นต้น  ทฤษฎีนี้มีหลักการว่า  เมื่อพฤติกรรมเกิดจากการเรียนรู้  ดังนั้นสามารถทำให้เลิกเรียนรู้ได้  นักพฤติกรรมบำบัดจะทำการประเมินความถี่ของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา  เพื่อกำหนดเกณฑ์เปรียบเทียบ  และทำการแทรกแซงช่วยเหลือ  วิธีการดำเนินการจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ใหม่โดยใช้หลักการวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำ  การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก  และการเรียนรู้จากตัวแบบ  เทคนิคที่ใช้มีมากมาย  สามารถเลือกใช้ตามประเภทของปัญหา  กลวิธีได้ขยายครอบคลุมการจัดการตนเอง  และเพิ่มการร่วมกันดำเนินงานให้มากขึ้นระหว่างผู้ให้การปรึกษาและผู้ขอความช่วยเหลือ  ประสิทธิผลของทฤษฎีนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ  ได้แก่  ประสบการณ์ฝึกอบรม  ความรู้และทักษะของผู้ให้การปรึกษา  ตลอดจนความคาดหวัง  แรงจูงใจ  และความร่วมมือของผู้รับการปรึกษา