วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การให้คำปรึกษากลุ่ม

การให้คำปรึกษากลุ่ม

หลักพื้นฐานของการให้คำปรึกษากลุ่ม
1.               สมาชิกกลุ่มทุกคนมีสิทธิในความรู้สึกของตน คือรู้สึกอย่างที่ตนรู้สึก ไม่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ผู้ให้คำปรึกษาจะสนับสนุนให้สมาชิกแสดงความรู้สึกของตนออกมาและให้เคารพในอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่นด้วย
2.               สมาชิกกลุ่มแต่ละคนต้องตัดสินใจว่าตนต้องการจะพัฒนาอะไรเกี่ยวกับตนเองด้วยตนเอง
3.               สมาชิกกลุ่มแต่ละคนต้องมุ่งแก้ปัญหาให้ตนเองไม่ใช่มุ่งแก้ปัญหาให้คนอื่น เพราะการที่สมาชิกเข้ากลุ่มก็เพราะต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นให้กับตนเอง
4.               ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ความรู้สึกของสมาชิกกลุ่มที่มีต่อสถานการณ์ เป็นจุดที่สำคัญยิ่งกว่าสถานการณ์ เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาได้
5.               การเปิดเผยตนเองของสมาชิกช่วยให้การให้คำปรึกษามีประสิทธิภาพ ถ้าสมาชิกกลุ่มไม่มีการป้องกันตนเองก็ย่อมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ในบรรยากาศที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ มีความหวังดี มีการยอมรับและมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ
6.               สมาชิกกลุ่มต้องมีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตน นั่นคือ ยอมรับผลที่ตามมาจากพฤติกรรมที่ตนได้กระทำไป ซึ่งทำให้สมาชิกพึ่งพิงคนอื่นน้อยลง
7.               การลงมือกระทำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม ซึ่งจะมีได้ในบรรยากาศของการยอมรับและความเข้าใจ ดังนั้นผู้ให้คำปรึกษาจะต้องพยายามสร้างบรรยากาศของการยอมรับและความเข้าใจ ให้เกิดขึ้นในกลุ่ม และรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ตลอดไป
8.               ในการเผชิญปัญหา แก้ปัญหา มีวิธีการหรือทางเลือกหลายวิธี ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องช่วยให้สมาชิกสามารถเลือกแนวทางแก้ปัญหาจากทางเลือกต่าง ๆ ที่ได้มีการนำเสนอในกลุ่มด้วยตนเอง
9.               สมาชิกกลุ่มจะต้องมีคำมั่นสัญญาให้กับตนเองในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ดังนั้นการให้การเสริมแรงจึงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องคำนึงถึง
10.         ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องกระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มได้นำประสบการณ์ใหม่หรือสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ดังนั้นประสบการณ์ในกลุ่มจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสมาชิก
11.         การที่สมาชิกรู้จักตนเองอย่างลึกซึ้ง และยอมรับตนเอง ทำให้มีการป้องกันตนเองน้อยลง และทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆที่เกี่ยวกับตน
12.         สมาชิกกลุ่มจะเกิดความเข้าใจตนเอง มีความรับผิดชอบ และสามารถควบคุมตนเองได้มากขึ้น หลังจากได้เข้าร่วมการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม



ลำดับขั้นของการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
        ขั้นที่ 1 ขั้นก่อตั้งกลุ่ม ในขั้นนี้สมาชิกที่เข้ากลุ่มยังไม่กล้าเปิดเผยตนเอง เพราะยังไม่ไว้วางใจในกลุ่ม ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องชี้แจงวัตถุประสงค์ของการให้คำปรึกษา และสร้างสัมพันธภาพที่ดี ให้เกิดขึ้นในกลุ่ม และต้องให้เวลาแก่สมาชิกกลุ่มพอสมควรอย่ารีบเร่ง
        ขั้นที่ 2 ขั้นการเปลี่ยนแปลงลักษณะของสมาชิก เป็นขั้นตอนต่อจากขั้นแรกกลุ่มเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการขึ้นบ้าง สมาชิกเริ่มรู้จักไว้วางใจกันแต่ก็ยังมีความวิตกกังวล มีความตึงเครียดอยู่บ้าง ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องพยายามชี้แจงให้สมาชิกกล้าอภิปรายปัญหาตัวเองอย่างเปิดเผย
        ขั้นที่ 3 ขั้นดำเนินการ ขั้นนี้สัมพันธภาพระหว่างสมาชิกในกลุ่มจะดีขึ้นมาก กล้าเปิดเผยตนเอง อภิปรายปัญหาตามความเป็นจริง ร่วมกันแก้ปัญหาของสมาชิก ทุกคนได้สำรวจตัวเอง เข้าใจปัญหาและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตน
        ขั้นที่ 4 ขั้นยุติการให้คำปรึกษา เมื่อสมาชิกเข้าใจปัญหาอย่างกระจ่างแจ้ง รู้จักแก้และเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตน นำไปปฏิบัติด้วยความพอใจ ไม่มีข้อข้องใจตกค้าง ก็ให้ยุติการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มได้
ขนาดของกลุ่ม
            ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ขนาดของกลุ่มที่ดีที่สุดจะอยู่ระหว่าง 4-8 คน เพราะถ้ากลุ่มมีขนาดใหญ่เกินจำนวน 8 คน การถ่ายโยงจะค่อย ๆอ่อนลงจนกระทั่งสมาชิกแทบ จะไม่มีความหมาย และแทบจะไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันและกัน กลุ่มทำหน้าที่เสมือนการรวมกลุ่มย่อยหลาย ๆกลุ่ม และผู้ให้คำปรึกษาจะมีความยากลำบากในการชักจูงให้สมาชิกแต่ละคน สนใจกลุ่ม แต่ถ้ากลุ่มเป็นกลุ่มขนาดเล็กสมาชิกจะมีโอกาสสื่อความหมายซึ่งกันและกันได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าขนาดของกลุ่มใหญ่ขึ้น สมาชิกจะได้รับประสบการณ์ตรงและมีส่วนร่วมในกลุ่มน้อยมาก สมาชิกจะพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับผู้นำ ผู้พูด และผู้แสดงเท่านั้น และสมาชิกจะปฏิบัติหน้าที่เหมือนกับอยู่ในชั้นเรียน และคอยพึ่งพิงผู้นำมากขึ้น
เวลาและจำนวนครั้งในการให้คำปรึกษากลุ่ม
            ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ผู้ให้คำปรึกษาควรจัดให้มีการให้คำปรึกษาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีเวลาอันจำกัดอาจจัดให้มีการให้คำปรึกษาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งได้ ส่วนจำนวนในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มทั้งหมดควรประมาณ 6-10 ครั้ง ส่วนเวลาที่ใช้ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มจะเป็นเวลานานเท่าใดนั้น จะแตกต่างกันไปตามวัยผู้มาขอรับคำปรึกษา ถ้าเป็น นักเรียนระดับประถมศึกษา ควรใช้เวลาครั้งละ 1 ชั่วโมง ส่วนนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ควรใช้เวลาประมาณ 1-1 ½ ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือผู้ใหญ่ควรใช้เวลาประมาณ 1 ½ - 2 ชั่วโมง ทั้งนี้หมายความว่าในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มนั้น เวลาที่ใช้ในการให้คำปรึกษาแต่ ละครั้งอย่างมากที่สุดไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง

ลักษณะของกลุ่มในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
            ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ลักษณะของกลุ่มควรเป็นกลุ่มแบบปิด ( Closed Groups) หมายถึง เป็นกลุ่มที่ประกอบด้วนสมาชิกที่เป็นคนเดิมตั้งแต่เริ่มต้นการให้คำปรึกษา จนกระทั่งถึงขั้นยุติการให้คำปรึกษา ไม่ควรเป็นกลุ่มแบบเปิด ( Opened Groups ) เพราะกลุ่มลักษณะนี้จะมีการเข้าออกของสมาชิกกลุ่มอยู่ตลอดเวลา คือสมาชิกเก่าออกไปสมาชิกใหม่เข้า มาแทนที่ ทำให้การให้คำปรึกษาขาดความต่อเนื่อง การที่กลุ่มจะมีพัฒนาการไปถึงขั้นการวางแผนแก้ปัญหา จะทำได้ยากและความรู้สึกปลอดภัยจะลดลง เพราะสมาชิกกลุ่มจะต้องคอยปรับตัวต่อสถานการณ์ ที่มีสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญงอกงามของกลุ่มได้

สถานที่และอุปกรณ์ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
            การให้คำปรึกษาแบบกลุ่มที่มีประสิทธิภาพอาจจัดได้โดยใช้สถานที่และอุปกรณ์น้อยที่สุดเพียงให้มีที่กว้างพอสำหรับเก้าอี้ 9 ตัว จัดเป็นวงกลมในห้องซึ่งผู้มาขอรับคำปรึกษาสามารถพูดได้อย่างอิสระ โดยไม่มีใครนอกห้องได้ยิน ห้องที่ใช้ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ที่ดึงดูดความสนใจของสมาชิก ควรเป็นห้องที่มีขนาดกว้างพอสมควร จะช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาแสดง บทบาทหรือสาธิตพฤติกรรมต่าง ๆได้อย่างสะดวก อนึ่งพื้นห้องถ้าปูพรมหรือสะอาดพอ สมาชิกก็อาจจะเปลี่ยนจากการนั่งเก้าอี้เป็นการนั่งกับพื้นแทน เมื่อเกิดความรู้สึกว่าเหมาะสมที่จะทำเช่นนั้น
            นอกจากนี้อุปกรณ์ที่ใช้ในการบันทึกภาพและเสียงจัดว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม เพราะการบันทึกภาพและเสียงทำให้ผู้ให้คำปรึกษาสามารถนำเหตุการณ์มาทบทวนพิจารณาถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ช่วยให้สามารถวิจารณ์บทบาทที่แสดงออกและที่เล่นบทบาทสมมุติของสมาชิก ทั้งยังช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาได้รู้จักพฤติกรรมที่ไม่ส่งผลดีของตน และรู้จักความต้องการที่ไม่ได้กล่าวออกมาทางวาจา และช่วยให้สมาชิกกลุ่ม ได้ประเมินอิทธิพลของกันและกันในด้านที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่ม

พฤติกรรมของผู้ให้คำปรึกษาในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
พฤติกรรมของผู้ให้คำปรึกษาที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
1.               การสร้างความพร้อมในการรับคำปรึกษาแบบกลุ่ม แก่ผู้มาขอรับคำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาควรได้ปฏิบัติดังนี้
1.               ผู้ให้คำปรึกษาชี้แจงให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาได้รู้ถึงสิ่งที่ผู้ให้คำปรึกษาต้องการได้รับจากผู้มาขอรับคำปรึกษา เช่น ความร่วมมือในการเข้ากลุ่ม การเปิดเผยตนเอง การแสดงความคิดเห็น ฯลฯ
2.               ผู้ให้คำปรึกษาชี้แจงให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาได้กำหนดสิ่งที่เป็นที่คาดหวังของตน ในการเข้ารับการปรึกษาแบบกลุ่ม
3.               ผู้ให้คำปรึกษาช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาตั้งความคาดหวังในสิ่งที่ตนอยู่ในความสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้
4.               ผู้ให้คำปรึกษาช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษา ยอมรับความรับผิดชอบที่จะต้องยืนยันในความเชื่อของตน ว่าพร้อมที่จะพูดถึงปัญหาของตนอย่างตรงไปตรงมา และเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ ๆที่พึงประสงค์
5.               ผู้ให้คำปรึกษาจูงใจผู้มาขอรับคำปรึกษาให้คิดเกี่ยวกับเป้าประสงค์ของตนตามเกณฑ์ที่ตนสามารถใช้ประเมินความสามารถของตนก่อนเริ่มการให้คำปรึกษา
6.               ผู้ให้คำปรึกษาตอบปัญหาของผู้มาขอรับคำปรึกษาซึ่งเกี่ยวกับสิ่งที่คาดหวัง ต่าง ๆอย่างชัดเจนโดยไม่ปกป้องตนเอง
7.               ผู้ให้คำปรึกษาให้กำลังใจผุ้มาขอรับคำปรึกษาให้สามารถคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเรียกร้องจากคนอื่น และวิธีการที่ตนอาจช่วยคนอื่นได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของกันและกัน
2.               การสร้างความสัมพันธ์ การเป็นบุคคลที่สุภาพเรียบร้อยของผู้ให้คำปรึกษายังไม่เป็นการเพียงพอสำหรับการสร้างสัมพันธภาพ ในการสร้างความสัมพันธ์ผู้ให้คำปรึกษาต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าตนมีความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้มาขอรับคำปรึกษาอย่างจริงใจ ผู้ให้คำปรึกษาต้องคัดเลือกผู้ที่พร้อมจะรับบริการให้คำปรึกษาเท่านั้น ผู้ให้คำปรึกษาต้องแสดงความเชื่อมั่นในตัวผู้มารับคำปรึกษาที่จะเรียนรู้ ฟัง สืบค้น และสะท้อนกลับได้อย่างถูกต้อง ตามที่ผู้มาขอรับคำปรึกษากำลังประสบอยู่ ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องสามารถ จับความรู้สึกได้ทันที เมื่อผู้มาขอรับคำปรึกษามีอาการกลัว และสามารถช่วยผู้มาขอรับคำปรึกษาพูดถึงแหล่งของความกลัว และความต้องการได้รับการสนับสนุน ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องสามารถรู้สึกร่วมกับผู้มาขอรับคำปรึกษาแต่ละคน ในขณะที่เขาเหล่านั้น รู้สึกเดือดร้อนและกำลังพยายามต่อสู้กับปัญหา การจัดตั้งเป้าประสงค์ และขณะที่กำลังสร้างความเข้มแข้งให้พร้อมที่จะแสดงออก ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องช่วยสมาชิกแต่ละคน ในการตั้งเป้าประสงค์เชิงพฤติกรรมอย่างชัดเจนแน่นอน เมื่อผู้มาขอรับคำปรึกษาเริ่ม รู้สึกว่า ผู้ให้คำปรึกษามีความห่วงใยตนแสดงว่าผู้ให้คำปรึกษามีความเข้าใจตนและเชื่อในความสามารถของตนที่จะแก้ปัญหาได้ และทั้งยังเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้ความช่วยเหลือตน ด้วยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมทำให้เกิดความสัมพันธ์ในการให้คำปรึกษา
3.               การรักษาสัมพันธภาพ ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเมื่อผู้ให้คำปรึกษาสร้างสายสัมพันธ์ในกลุ่มขึ้นแล้ว จำเป็นต้องรักษาสัมพันธภาพนี้ไว้ตลอดระยะเวลาที่ยังมีการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ในการที่บุคคลคนหนึ่งจะกล้าเสี่ยงอภิปรายถึงปัญหาของตนอย่างตรงไปตรงมายอมรับส่วนบกพร่องที่จะต้องแก้ไข กำหนดพฤติกรรมใหม่ที่พึงประสงค์และนำมาทดลองปฏิบัติ จะต้องมีความเชื่อมั่นว่าผู้ให้คำปรึกษา ตลอดจนเพื่อนร่วมกลุ่มของตนจะสามารถรักษาความลับได้ และจะสามารถให้การสนับสนุนในสิ่งที่จำเป็นเมื่อตนต้องการ ทุกคนในกลุ่มต้องมีความรู้สึกร่วมกับตน ทุกข์ร่วมกับตน ให้กำลังใจตนโดยไม่ใช่การแสดงความสงสาร แต่ด้วยวิธีสะท้อนกลับด้วยใจจริงและใจกว้าง ช่วยให้ตนสามารถกำหนดเป้าประสงค์ที่ชี้เฉพาะ ช่วยแตกเป้าประสงค์ออกเป็นเป้าประสงค์ย่อย ช่วยให้ตนได้ปฏิบัติตามเป้าประสงค์ ช่วยให้ค้นพบส่วนที่ตนได้รับความเจริญก้าวหน้า และช่วยให้ค้นพบส่วนที่ตนควรเจริญต่อไป สอนให้รู้จักความสำเร็จของตนให้ทุกคนได้รับรู้ และให้รู้จักยินดีในความสำเร็จของผู้อื่น และเรียนรู้ที่จะเข้าถึงความรู้สึกของผู้อื่น ในเชิงช่วยเหลือกัน สมาชิกในกลุ่มต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าตนจะร่วมด้วย และช่วยกันมองปัญหาให้ทะลุปรุโปร่งจะต้องช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาตระหนักได้ว่าตน ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งหมดซึ่งจะเสียเอกลักษณ์ประจำตัว งานของสมาชิก ในกลุ่มก็คือ การช่วยให้สมาชิกแต่ละคนได้เรียนรู้พฤติกรรมใหม่ ๆ ตามที่ตนปรารถนา และช่วยให้เกิดการปฏิบัติพฤติกรรมเหล่านั้น และสามารถนำทักษะใหม่ ๆเหล่านี้ไปใช้ได้ ดังนั้นการรักษาสัมพันธภาพของผู้ให้คำปรึกษาสิ่งสำคัญที่สุดคือ การช่วยให้ผู้ขอรับคำปรึกษาได้สืบค้นความเจริญงอกงามของตนเอง
4.               การอธิบายปัญหาอย่างถูกต้อง การอธิบายเริ่มขึ้นเมื่อผู้ให้คำปรึกษาอธิบายการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มแก่ผู้มาขอรับคำปรึกษาและเล่าถึงสิ่งที่ผู้มาขอรับคำปรึกษาที่คล้ายคลึงกันได้เคยอภิปรายกันมาก่อน และวิธีการที่ผู้มาขอรับคำปรึกษาเหล่านั้นได้รับความช่วยเหลือและการอธิบายปัญหายังคงดำเนินต่อไปในขั้นการสัมภาษณ์ครั้งแรก และส่งเสริมให้ดำเนินต่อไปตลอดระยะเวลาของกระบวนการให้คำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาไม่เพียงแต่สามารถฟังอย่างตั้งใจ เพื่อสืบค้นและสะท้อนกลับเนื้อหาที่เป็นประเด็นสำคัญในการบำบัดรักษา เพื่อนำสิ่งที่ยังคั่งค้างและเจ็บปวดมาพิจารณาร่วมกับเป้าประสงค์เชิง พฤติกรรมที่ชี้เฉพาะ เพื่อวางแผนเมื่อผู้มาขอรับคำปรึกษาพร้อมที่จะตั้งเป้าประสงค์เชิงพฤติกรรมและเกณฑ์การประเมินความเจริญงอกงามของตนเองเท่านั้น แต่ผู้ให้คำปรึกษายังต้องสามารถสอนผู้มาขอรับคำปรึกษา ให้รู้จักช่วยตนเองในงานดังกล่าวนี้ด้วย ความไวในการสืบค้นและความกล้าที่สะท้อนกลับสิ่งเป็นความเจ็บปวดของผู้มาขอรับคำปรึกษาแสดงคุณภาพที่สำคัญของผู้ให้คำปรึกษา และการอธิบายปัญหาอย่างผิด ๆ และเป็นอุปสรรค ขัดขวางการประสบความสำเร็จของการให้คำปรึกษา
5.               การอธิบายเป้าประสงค์ของการมาขอรับคำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาควรจะได้กระตุ้นให้ ผู้มาขอรับปรึกษาได้บอกเป้าประสงค์ของการมาขอรับคำปรึกษาตั้งแต่มีการพบกันครั้งแรก แม้จะเป็นเพียงความคิดที่เป็นความคาดหวังก็ตาม โดยการให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาได้สำรวจปัญหาของตนอย่างเพียงพอ และพร้อมที่จะพูดถึงเป้าประสงค์ของการมาขอรับคำปรึกษา โดยผู้ให้คำปรึกษาไม่ปล่อยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาได้พูดคร่ำครวญถึงความไม่สบายใจของตนนานจนเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ความพร้อมของผู้มาขอรับคำปรึกษาคนอื่น ๆลดลง และการปล่อยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาพูดนานเกินไป จะเป็นเหตุให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาหมดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ ๆ ผู้ให้คำปรึกษาควรใช้วิธีสะท้อนกลับ โดยการนำความไม่สบายใจของผู้มาขอรับคำปรึกษาให้สัมพันธ์กับเป้าประสงค์เพื่อที่ผู้มาขอรับคำปรึกษาจะได้หันกลับมาพิจารณาถึง วิธีการที่แก้ไขปัญหาของตนอย่างแท้จริง
6.               การอธิบายเกณฑ์การประเมินความเจริญงอกงามของผู้มาขอรับคำปรึกษา เมื่อผู้มา ขอรับคำปรึกษากำหนดเป้าประสงค์ของตนในการมาขอรับคำปรึกษาได้แล้ว หน้าที่ของ ผู้ให้คำปรึกษาคือการช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาได้สำรวจว่าตนตะรู้ได้อย่างไรว่าได้บรรลุเป้าประสงค์ของตนแล้ว ผู้ให้คำปรึกษาอาจกระตุ้นให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาได้ จดบันทึกเป้าประสงค์ของตนแต่ละข้อ พร้อมเกณฑ์ที่ใช้วัดความเจริญงอกงามของตน
7.               การถ่ายโยง คือการย้ายความรู้สึกหรืออารมณ์ของผู้มาขอรับคำปรึกษาจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง เป้นการโยกย้ายอารมณ์ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลหนึ่งอดีตมาสู่ผู้ให้คำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาต้องสามารถสังเกตเห็นการถ่ายโยงนี้และต้อง
8.               รู้จักปลีกตัวไม่รับสิ่งที่ถ่ายโยงมาสู่ตนเอง แต่ผู้ให้คำปรึกษาควรจะช่วยให้สมาชิกผู้นั้นได้สำรวจถึงสิ่งที่คั่งค้างอยู่ในใจ และช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาค้นพบแนวทางการ แก้ปัญหานั้น ๆ และสามารถตัดสินใจได้ว่าตนอยากจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการใด เช่น การแสดงบทบาทสมสุติ เป็นต้น
9.               การให้ข้อมูลย้อนกลับ ผู้ให้คำปรึกษาต้องสามารถสอนผู้มารับคำปรึกษาให้รู้จักสืบค้น ดูว่า เมื่อใดผู้มาขอรับคำปรึกษาต้องการข้อมูลย้อนกลับ ขอข้อมูลย้อนกลับ ใช้ข้อมูลย้อนกลับและให้ข้อมูลย้อนกลับในลักษณะที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น การให้ข้อมูลย้อนกลับ จะเน้นเฉพาะประเด็นที่บุคคลหนึ่งมีปฏิกิริยาต่อการกระทำของอีกบุคคลหนึ่งเป็นการเปิดเผยความรู้สึกหรือความคิดเห็นของบุคคลหนึ่งโดยมิได้มีการบังคับให้อีกฝ่ายยอมรับ เพื่อให้การให้ข้อมูลย้อนกลับเป็นประโยชน์ต่อความเจริญงอกงามของผู้มาขอรับคำปรึกษา ผู้ให้ข้อมูลย้อนกลับต้องมีลักษณะที่ผู้ได้รับข้อมูลย้อนกลับ มองว่าเอาใจใส่ตนอย่างแท้จริง พร้อมที่จะช่วยให้ตนเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ที่ตนปรารถนาอย่างแท้จริง ผู้ให้ข้อมูลย้อนกลับต้องจริงใจ ไม่ยกย่องจนเกินไปหรือให้คำชมเชยที่หลอก ๆ ต้องคิดถึงผู้อื่นเป็นสำคัญ มีความจริงใจในการแสดงออกภายนอกให้สอดคล้องกับความรู้สึกภายในตนเองต้องรับรู้ไวต่อความต้องการของผู้รับ สามารถค้นหาและสะท้อนกลับความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของผู้รับ และช่วยให้ผู้รับอภิปรายถึงความรู้สึกเหล่านี้
10.         ช่วงเวลายุติการให้คำปรึกษา ช่วงเวลายุติการให้คำปรึกษาจัดเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาเริ่มต้นดำเนินชีวิตให้เจริญงอกงามต่อไปภายหลังการได้รับบริการให้คำปรึกษา เมื่อใดก็ตามที่ผู้มาขอรับคำปรึกษารู้สึกว่าตนได้บรรลุเป้าประสงค์หรือรู้สึกว่าตนจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้น ผู้มาขอรับคำปรึกษาควรจะได้รับกำลังใจ ให้อภิปรายร่วมกันเกี่ยวกับการยุติการขอรับคำปรึกษา โดยผู้ให้คำปรึกษาอาจจะถามคำถามต่อไปนี้
คุณได้บรรลุเป้าประสงค์อะไรบ้างที่คุณตั้งไว้
คุณยังมีอะไรค้างทางใจที่จะต้องทำอีกบ้าง
คุณต้องการความช่วยเหลือจากใครในการช่วยเรียนรู้เปลี่ยนพฤติกรรมใหม่และฝึก ปฏิบัติตามนั้น
ภาระของผู้ให้คำปรึกษา
ภาระของผู้ให้คำปรึกษาในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม
1.               การสร้างสัมพันธภาพ จัดว่าเป็นปัจจัยสำคัญของการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องแสดงการต้อนรับด้วยความจริงใจ อบอุ่นและเป็นมิตร และพยายามแสดงให้สมาชิกกลุ่มรู้ว่า ผู้ให้คำปรึกษาคือใคร และทำอะไรบ้างเพื่อช่วยเหลือผู้มาขอรับคำปรึกษาเหล่านั้น และให้ผู้รับคำปรึกษาคาดหวังอะไรบ้างจากผู้มาขอรับคำปรึกษาเหล่านั้น พร้อมทั้งให้ความมั่นใจแก่สมาชิกกลุ่มว่า ทุกคนสามารถพูดได้อย่างอิสระและสิ่งที่พูดจะได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นความลับ
2.               การสร้างความพร้อม การเริ่มให้คำปรึกษาแบบกลุ่มเป็นครั้งแรก ผู้ให้คำปรึกษาอาจจะพบว่า สมาชิกกลุ่มไม่กล้าพูดถึงปัญหาของตน ดังนั้น ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องสร้างความพร้อมให้แก่ผู้มาขอรับคำปรึกษาเหล่านั้น การสะท้อนความรู้สึกได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนการกระตุ้นให้กำลังใจ ให้สามารถอภิปรายปัญหาของตนได้ ย่อมเป็นการช่วยส่งเสริมให้ผู้มาขอรับคำปรึกษามีความพร้อมที่จะเปิดเผยความจริงได้ง่ายขึ้น
3.               การสำรวจค้นหาความรู้สึกของผู้มาขอรับคำปรึกษา ในการค้นหาความรู้สึกของผู้มาขอรับคำปรึกษาผู้ให้คำปรึกษาจะต้องพยายามมีความรู้สึกร่วมกับผู้มาขอรับคำปรึกษาคือต้องรู้สึกอย่างที่เขารู้สึก และมองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างที่เขามอง ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องพยายามค้นให้พบว่าผู้มาขอรับคำปรึกษามีความไม่สบายใจเรื่องอะไร อย่างไร และเขาต้องการทำอย่างไรเกี่ยวกับความไม่สบายใจนี้ ซึ่งจะมีผลช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาเกิดความเข้าใจตนเอง และมีความ รับผิดชอบต่อความเจริญงอกงามของตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาตระหนักว่า ผู้ให้คำปรึกษามีความห่วงใยผู้มาขอรับคำปรึกษาอย่างแท้จริง
4.               การสะท้อนกลับความรู้สึกของผู้มาขอรับคำปรึกษา จัดเป็นเทคนิคสำคัญที่ผู้ให้คำปรึกษาควรจะได้นำมาใช้ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม เพราะเป็นการช่วยให้สมาชิกกลุ่มได้พูดถึงความรู้สึกของตนอย่างเปิดเผย เพื่อให้รู้จักพฤติกรรมใหม่ที่พึงประสงค์ และฝึกปฏิบัติตามพฤติกรรมเหล่านั้น
5.               การอภิปรายความรู้สึกให้สัมพันธ์กับเป้าประสงค์เชิงพฤติกรรรม เมื่อผู้ให้คำปรึกษาฟัง ผู้รับคำปรึกษาพูดถึงสิ่งที่ตนไม่สบายใจแล้ว ผู้ให้คำปรึกษาควรจะต้องพยายามพิจารณาดูว่า ผู้มาขอรับคำปรึกษาพูดจนเป็นที่พอใจหรือยัง ถ้าพบว่าพูดจนพอใจแล้ว แสดงว่าผู้มาขอรับ คำปรึกษาพร้อมที่จะกำหนดเป้าประสงค์เชิงพฤติกรรมของตน ผู้ให้คำปรึกษาก็ควรจะได้กระตุ้น ให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาได้กำหนดเป้าประสงค์เชิงพฤติกรรมของตน เพื่อจะได้นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขตนเอง
6.               การอธิบายเป้าประสงค์เชิงพฤติกรรม เมื่อผู้มาขอรับคำปรึกษาสามารถกำหนดเป้าประสงค์เชิงพฤติกรรมของตนได้แล้ว หน้าที่ของผู้ให้คำปรึกษาก็คือ การกระตุ้นให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาได้อธิบายเป้าประสงค์เชิงพฤติกรรมของตนให้ชัดเจน และเกณฑ์ที่สามารถนำมาใช้ในการประเมินความเจริญงอกงามของตนในขณะรับการให้คำปรึกษาในระยะต่อจากนั้นตลอดระยะเวลา การให้คำปรึกษาผู้ให้คำปรึกษาจะฟังเงื่อนไขปัญหาที่ผู้มาขอรับคำปรึกษาเปิดเผยเพื่อตรวจค้นหา ว่า ผู้มาขอรับคำปรึกษาอยากจะเรียนรู้วิธีการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมหรือเรียนรู้พฤติกรรมใหม่อย่างใดแน่
7.               การช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษากำหนดเกณฑ์การประเมินความเจริญงอกงามของ ตนเอง เมื่อผู้มาขอรับคำปรึกษาสามารถอธิบายเป้าประสงค์เชิงพฤติกรรมของตนได้แล้ว ผู้ให้คำปรึกษาก็ควรจะได้กระตุ้นให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาได้กำหนดเกณฑ์ในการประเมินความเจริญงอกงามของตน แล้วนำเกณฑ์ที่ตนได้กำหนดมาประเมินความงอกงามของตนเอง การค้นพบนี้เป็นการช่วยกระตุ้นให้ ผู้มาขอรับคำปรึกษาได้เจริญงอกงามต่อไป และเป็นการ เสริมแรงให้เกิดพฤติกรรมใหม่ ๆที่พึงประสงค์อีกด้วย
8.               การช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาระบุเป้าประสงค์ย่อย เมื่อผู้มาขอรับคำปรึกษากำหนดเป้าประสงค์ของตนได้แล้วหากจะให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ผู้มาขอรับคำปรึกษาควรจะได้จำแนกเป้าประสงค์ของตนออกเป็นเป้าประสงค์ย่อย ๆ โดยจำแนกออกเป็นขั้น ๆ และเรียงลำดับขั้นเพื่อดำเนินไปสู่เป้าหมาย และเป็นการช่วยให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาสามารถดำเนินการเอาชนะหรือดำเนินไปสู่เป้าหมายเป็นขั้น ๆไปตามลำดับ
9.               การสอนผู้มาขอรับคำปรึกษาให้เป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่นและเป็นผู้ขอรับคำปรึกษาที่ดี ในการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาจะสอนพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาในขณะที่อธิบายโครงสร้างของการให้คำปรึกษามาแบบกลุ่ม ก่อนที่สมาชิกจะเข้ากลุ่ม แต่อย่างไรก็ดีในสถานการณ์จริง ผู้ให้คำปรึกษามักจะพบว่า ผู้มาขอรับคำปรึกษาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี หรือไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องพยายามค้นหา และตรวจดูว่าผู้มาขอรับคำปรึกษาต้องการรู้อะไร และสะท้อนกลับให้เขาได้รู้ในสิ่งที่ต้องการจะรู้ และจะต้องพยายามกระตุ้นให้ผู้มาขอรับคำปรึกษาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันได้อธิบายถึงสิ่งที่เป็นที่คาดหวัง หรือถ้าจะสาธิตสิ่งที่คาดหวังนั้นได้ยิ่งจะเป็นการดี เพื่อช่วยให้สมาชิกกลุ่มได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน จัดว่าเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
10.         การรับรู้ความสำเร็จของกันและกัน เมื่อผู้มาขอรับคำปรึกษาสามารถตัดกสินใจได้ว่าตนควรทำอะไรในช่วงเวลาในการให้คำปรึกษาแต่ละครั้ง ผู้มาขอรับคำปรึกษาจะเรียนรู้อย่างรวดเร็วถึงวิธีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จที่ต่างก็ได้รับจากการเริ่มปฏิบัติพฤติกรรมใหม่ของตน ผู้มาขอรับคำปรึกษาจะค่อย ๆ มองเห็นความแตกต่างระหว่างการคุยโอ้อวดเพื่อให้ได้รับความประทับใจกับการได้พูดถึงความสำเร็จที่ตนประสบจริง ๆ ให้เพื่อนร่วมกลุ่มได้รับรู้ และใน ที่สุดก็สามารถเล่าความสำเร็จของตนให้บุคคลสำคัญอื่น ๆ ยิ่งกว่านั้นผู้มาขอรับคำปรึกษา ยังเรียนรู้ที่จะชื่นชมยินดีกับความสำเร็จและเรียนรู้ที่จะยอมรับความล้มเหลวของตน สามารถวิเคราะห์ความล้มเหลว เพื่อพิจารณาทบทวนวิธีการที่เป็นต้นเหตุของความล้มเหลว และทดลองหาวิธี อื่น ๆ ต่อไป
11.         การยุติการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม การยุติการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม ควรเป็นการตกลงของกลุ่ม โดยการที่ผู้ให้คำปรึกษาส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นว่ากลุ่มควรจะเริ่มเมื่อใด ยุติ เมื่อใด และในสภาพเช่นใดที่สมาชิกกลุ่มควรได้รับการให้คำปรึกษาแบบรายบุคคล และควรพบกันกี่ครั้ง ควรตัดสินยุติด้วยวิธีใด และผู้ให้คำปรึกษาจะจัดการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่พร้อมจะยุติการขอรับคำปรึกษาเมื่อกลุ่มต้องการสลายตัว
12.         การติดตามผลและการเสริมสร้างกำลังใจ เพื่อความเจริญงอกงามต่อไป เมื่อยุติการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มแล้ว ผู้ให้คำปรึกษาควรจะได้เว้นระยะเวลาไว้ประมาณ 3 เดือน แล้วขอนัดพบสมาชิกกลุ่มพร้อมกันอีกครั้งเพื่อเป็นการติดตามผล และเพื่อเป็นการทบทวนตรวจดูว่าสมาชิกกลุ่มแต่ละคนยังรักษาผลประโยชน์ที่ตนได้จากการให้คำปรึกษาแบบกลุ่มได้มากน้อยเพียงใด และแต่ละคนสามารถทำงานที่คั่งค้างอยู่นั้นไปได้ถึงขั้นใด ผู้ให้คำปรึกษาอาจจะทบทวนข้อสรุปร่วมกันกับผู้มาขอรับคำปรึกษาแต่ละคน เพื่อเป็นการให้กำลังใจผู้มาขอรับคำปรึกษาได้มีความเจริญงอกงามต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น