วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การให้คำปรึกษารายบุคคล ( Individual Counseling)



การให้คำปรึกษารายบุคคล ( Individual Counseling)

การให้คำปรึกษานี้มีลักษณะที่แตกต่างจากการให้บริการอื่นๆ ดังนี้ คือ
                1. มีทฤษฏี กระบวนการและเทคนิคการให้คำปรึกษาให้ครูได้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับลักษณะของปัญหาและธรรมชาติของนักเรียน นักศึกษา
                2. เน้นสัมพันธภาพที่ดีระหว่างครูผู้ให้และนักเรียน นักศึกษาผู้รับคำปรึกษา เพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกไว้วางใจ และกล้าเปิดเผยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้การให้คำปรึกษาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้การสนทนา หรือการสื่อสารสองทางระหว่างครูกับนักเรียน เป็นเครื่องมือสำคัญของการให้คำปรึกษา
                3. เน้นปัจจุบัน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา อยู่ในโลกของความเป็นจริง และสามารถค้นหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ในปัจจุบัน
                4. ไม่มีคำตอบสำเร็จรูปตายตัว เพราะการให้คำปรึกษาเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ วิธีการแก้ปัญหาในแต่ละกรณีจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสภาพปัญหา โดยนักเรียน นักศึกษา จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกแนวทางแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
                5. ครูผู้ให้คำปรึกษาต้องให้เกียรติ และยอมรับนักเรียน นักศึกษา ที่มาขอรับคำปรึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ตัดสิน ไม่ประเมินและไม่วิพากษ์ วิจารณ์ หรือตำหนิ

วัตถุประสงค์ของการให้คำปรึกษา
         การให้คำปรึกษาแก่นักเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยนักเรียน นักศึกษาในเรื่องต่อไปนี้
1. สำรวจตนเอง และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และเข้าใจ
2. ลดระดับความเครียด และความไม่สบายใจที่เกิดการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
3. พัฒนาทักษะทางด้านสังคม ทักษะการตัดสินใจ และทักษะการจัดการกับปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่พึงประสงค์ เช่น มีความรับผิดชอบในหน้าที่ต่างๆ มากขึ้น มีพฤติกรรมการเรียนที่ดี และสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดีขึ้น

ประเภทของการให้คำปรึกษา
        การให้คำปรึกษาแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. การให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล  เป็นกระบวนการช่วยเหลือโดยมีการพบปะเป็นการส่วนตัว ระหว่างผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับบริการ ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ผู้รับบริการ ได้เข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น สามารถวางโครงการในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมิใช่เฉพาะจะสามารถแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่เท่านั้น แต่ จะช่วยให้มีทักษะในการแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ด้วยตนเอง


  
2. การให้คำปรึกษาเป็นกลุ่ม  เป็นการให้คำปรึกษามากกว่า 1 คนในแต่ละครั้ง แต่ไม่เป็นกลุ่มใหญ่เกินไป ประมาณ 7-10 คน เพราะถ้าเป็นกลุ่มใหญ่มากเกินไปการให้คำปรึกษาอาจไม่ทั่วถึง ประการสำคัญเป็นเรื่องทางจิตวิทยาที่เกี่ยวกับความรู้สึก  อารมณ์ ที่จะถ่ายทอดให้แก่กันของคนในกลุ่ม การให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มนี้เหมาะกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน นัดหมายมาพบกันเพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือ การแก้ไขปัญหาและข้อบกพร่องของตน



ความรู้พื้นฐานสำหรับอาจารย์ประจำชั้นและอาจารย์ที่ปรึกษาในการให้คำปรึกษา
1. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์
         - มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม
         - มนุษย์มีความแตกต่างกันทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์
         - พฤติกรรมของมนุษย์ย่อมมีสาเหตุ
         - มนุษย์มีเกียรติและศักดิ์ศรี
         - มนุษย์มีอารมณ์และเหตุผล
         - มนุษย์ย่อมเห็นประโยชน์ส่วนตัว
         - มนุษย์มักกล่าวโทษผู้อื่น
         - มนุษย์ชอบความแปลกใหม่
          - มนุษย์ชอบเปรียบเทียบ
          - มนุษย์มีความคาดหวัง 
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์จะทำให้อาจารย์ที่ปรึกษาเข้าใจนักเรียน นักศึกษามากยิ่งขึ้น

2. ความต้องพื้นฐานของมนุษย์ (ตามทฤษฎีของ Maslow)
           ขั้นที่ 1   ความต้องการทางด้านร่างกาย
          - ขั้นที่ 2   ความต้องการทางด้านความมั่นคงปลอดภัย
          - ขั้นที่ 3   ความต้องการความรักและการมีส่วนร่วม
          - ขั้นที่ 4   ความต้องการเห็นคุณค่าในตนเอง
          - ขั้นที่ 5   ความต้องการบรรลุภาวะสัจจการแห่งตน

3. พฤติกรรมของมนุษย์
                พฤติกรรมของมนุษย์ เกิดจากการเรียนรู้ที่ได้รับการเสริมแรงแสดงออกได้ ทั้งพฤติกรรมที่พึงประสงค์และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องประสบการณ์อีกด้วย ทั้งการเรียนรู้และประสบการณ์ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป การที่พฤติกรรมของนักเรียน นักศึกษาแต่ละคนแตกต่างกันยังเป็นเรื่องของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

คุณสมบัติที่สำคัญของผู้ให้คำปรึกษา
       ในการทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษานั้น อาจารย์ที่ปรึกษาต้องควรมีคุณสมบัติที่สำคัญๆดังนี้
1. มีบุคลิกภาพที่อบอุ่นและเป็นมิตร
2. มีลักษณะน่าไว้วางใจ น่าเคารพ น่าเชื่อถือ และรักษาความลับได้
3. มีความสนใจในการช่วยเหลือผู้อื่น มีคุณธรรม เมตตาธรรม และเสียสละ
4. รู้จักพูด เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษารับทราบปัญหาที่แท้จริง และแก้ปัญหาของนักเรียน นักศึกษาได้ด้วยตนเองโดยไม่พึ่งพิงอาจารย์ผู้ให้คำปรึกษา
5. รู้จักฟังและสามารถฟังจับประเด็นได้เร็วและกระจ่างชัด มีความอดทนต่อการรับฟังปัญหาของนักเรียน นักศึกษาด้วยความตั้งใจและสนใจฟัง
6. สามารถอธิบายและคลี่คลายปมประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย
7. สามารถที่จะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษารับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง โดยผู้ให้คำปรึกษาจะไม่ตัดสินใจแทน
8. มีสุขภาพจิตดี มีอารมณ์มั่นคงเสมอต้นเสมอปลาย รักเพื่อนมนุษย์

กระบวนการให้คำปรึกษา
       กระบวนการให้คำปรึกษา อาจสรุปได้ 5 ขั้นตอนดังนี้คือ
ขั้นตอนที่ การสร้างสัมพันธภาพ ผู้ให้คำปรึกษาต้องทำให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความอบอุ่น สบายใจ และไว้วางใจ
ขั้นตอนที่ สำรวจปัญหา ผู้ให้คำปรึกษาช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้สำรวจปัญหาและปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาด้วยตัวของเขาเอง
ขั้นตอนที่ เข้าใจปัญหา สาเหตุ ความต้องการ ผู้ให้คำปรึกษาช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจปัญหา สาเหตุ และความต้องการของตนเอง
ขั้นตอนที่ วางแผน แก้ปัญหา ผู้ให้คำปรึกษาช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาพิจารณาวิธีแก้ปัญหาและตัดสินใจเลือกสิ่งที่จะปฏิบัติด้วยตนเอง
ขั้นตอนที่ ยุติการให้คำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาย้ำความเข้าใจที่เกิดขึ้นระหว่างที่ให้คำปรึกษา และช่วยให้ผู้รับคำปรึกษามีแรงจูงใจและกำลังใจที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง

เทคนิคการให้คำปรึกษา  (ทุกคนมีส่วนร่วมในหัวข้อนี้)
      1. การเริ่มต้นให้คำปรึกษา (Opening the Interview)       
ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้รับคำปรึกษา เพื่อให้มีบรรยากาศที่ดี อบอุ่น และเกิดความเป็นกันเอง เช่น การกล่าวคำต้อนรับ เป็นต้น
     2. การสร้างสายสัมพันธ์  (Establishing  Rapport)    
 เมื่อเริ่มต้นการสนทนาไปแล้วสิ่งที่ตามมาก็คือ  การสร้างสายสัมพันธ์ เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้การพูดคุยกันดำเนินไปสู่จุดมุ่งหมาย การสร้างสายสัมพันธ์จะต้องกระทำอย่างระมัดระวังเพราะเป็นเทคนิคที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนมาก โดยทั่วไปแล้วจะต้องทราบภูมิหลังของผู้รับคำปรึกษา  เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ต่อไป อาจจะพูดถึงเรื่องที่ผู้รับคำปรึกษามีความถนัด  และสนใจเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้เขาสามารถพูดได้อย่างมั่นใจ ช่วยให้เขามีความสุขและพร้อมที่จะพูดต่อไป
      3. การตั้งคำถาม (Questioning) 
กระบวนการให้คำปรึกษานั้น ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องไม่ใช้การแนะนำ แต่จะใช้การตั้งคำถาม เพื่อช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความเข้าใจตนเองดีขึ้น เกิดความรู้สึกกระจ่างขึ้น เช่น อะไรเป็นสาเหตุทำให้เธอตัดสินใจเช่นนั้น หรือเธอได้จ่ายเงินซื้อของไปนั้นคุ้มกับประโยชน์ที่ใช้หรือไม่
       4. การแนะนำ (Suggesting)  ในบางกรณีผู้ให้คำปรึกษาจะพบว่าผู้รับคำปรึกษามีความสนใจต่อปัญหาต่างๆ  และไม่สามารถจะโต้ตอบได้ จึงต้องมีการแนะกันบ้าง เพื่อให้เกิดความรู้สึกหรือพอมองเห็นช่องทางที่จะแก้ปัญหา
        5. การตีความหมาย (Interpreting)  
การช่วยตีความหมายในสิ่งที่ผู้รับคำปรึกษากล่าวไปแล้ว เพื่อจะช่วยให้เกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้น
        6. การเงียบและการฟัง (Silent and Listening) 
  เป็นกลวิธีที่จะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเล่าเรื่องของตนได้ดีขึ้น การเงียบจะช่วยให้เกิดสมาธิ และรวบรวมคำพูดต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น เช่น
                        นักศึกษา: อาจารย์ครับตอนนี้ผมเดือดร้อนมากไม่มีค่าเช่าหอ เขาจะไล่ผมออก อาจารย์ช่วยผมด้วย
                        ผู้ให้คำปรึกษา :  ……. (เงียบและฟัง)
      

        7. การทำให้กระจ่างแจ้ง (Clarifying)
 ผู้ให้คำปรึกษากล่าวถึงสิ่งที่ผู้รับคำปรึกษาพูดไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่เปลี่ยนเนื้อหาคำพูดนั้นๆ เลย  จะทำให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกเข้าใจในเรื่องที่เขาอาจเข้าใจผิดอยู่ได้ และมองเห็นคำพูดของตนในแง่ที่เป็นกลางมากขึ้น เช่น
นักศึกษา : ผมไม่มั่นใจว่าจะเรียนจบหรือเปล่า ดูเหมือนปัญหามันมากเหลือเกิน
                     ผู้ให้คำปรึกษา: “ไหนลองบอกครูซิว่า อะไรทำให้เธอไม่มั่นใจ
       8. การสะท้อนความรู้สึก (Reflection of feeling) คือ การที่ผู้ให้คำปรึกษาตีความหมายของคำพูด ซึ่งแสดงความรู้สึกที่สำคัญของผู้รับคำปรึกษา แล้วเปลี่ยนคำพูดใหม่ โดยเน้นเนื้อหาสาระเดิมเพื่อจะทำให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความเข้าใจความรู้สึกของตนอย่างลึกซึ้ง และกล้าเผชิญกับความรู้สึกของตน เช่น
                    นักศึกษาผมเป็นคนเดียวที่ครูมักจะคอยจับผิดและมักจะใช้ผมทำงานมากกว่าใคร
                   ผู้ให้คำปรึกษา : ในความรู้สึกของเธอ เธอคิดว่าครูไม่ให้ความยุติธรรมแก่เธอเท่ากับเพื่อนๆ ใช่ไหม
       9. การสอบซักถาม (Probing)  คือ การที่ผู้ให้คำปรึกษาตั้งคำถามตรงๆ เพื่อค้นหารายละเอียดจากผู้รับคำปรึกษา
                      นักศึกษาหนูไม่ชอบเรียนคณะวิชาสัตวศาสตร์
                      ผู้ให้คำปรึกษา :   แล้วเธอชอบเรียนอะไร  
                     นักศึกษา:   หนูชอบเรียนบริหารธุรกิจ
                      ผู้ให้คำปรึกษา :   ทำไมเธอจึงชอบเรียนบริหารธุรกิจ
                     นักศึกษา:  หนูชอบขายของ ชอบงานขายตรง ชอบงานสบาย งานสัตวศาสตร์หนัก
                      ผู้ให้คำปรึกษา :  หนูชอบขายของ ชอบงานขายตรง ชอบงานสบาย งานสัตวศาสตร์หนัก แล้วหนูคิดว่างานที่เกี่ยวกับบริหารธุรกิจจะสบายหรือ?


ข้อควรคำนึงในการให้คำปรึกษา
  การให้คำปรึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาครูควรปฏิบัติดังนี้                                                                                                                                                                                       1. ตรงต่อเวลานัดหมายทั้งเริ่มต้น และสิ้นสุดการให้คำปรึกษา โดยทั่วไปแล้วการให้คำปรึกษาแต่ละครั้ง ควรใช้เวลา 45-50 นาที สำหรับการให้คำปรึกษารายบุคคล และ 60-90 นาที สำหรับการให้คำปรึกษากลุ่ม และควรอยู่ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน ต่อราย หรือต่อกลุ่ม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการนัดหมายอื่นๆ

 2. ให้ความสำคัญกับภาษาท่าทางของนักเรียน นักศึกษาให้มาก หากพบว่าคำพูดกับท่าทางของเขา ขัดแย้งกัน ให้เชื่อภาษาท่าทางและสะท้อนกลับให้เขารับรู้ เพื่อให้เขาเข้าใจตัวเองมากขึ้น เช่น เธอบอกว่าเธอเสียใจกับเรื่องนี้มาก แต่ขณะที่เธอพูดว่าเสียใจ ครูเห็นเธอยิ้ม จริงๆ แล้วเธอรู้สึกอย่างไร

3. หลีกเลี่ยงการถามข้อมูลที่ละเอียดอ่อน หรือเจาะจงเกินไป เพราะอาจทำให้นักเรียน นักศึกษาอึดอัดใจ และไม่ให้ความร่วมมือในการปรึกษาได้

4. หลีกเลี่ยงการแนะนำให้นักเรียน นักศึกษา ปฏิบัติตามความเห็นของครู เพราะเขาอาจเคยปฏิบัติในสิ่งที่ครูแนะนำมาแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรืออาจเป็นคำแนะนำที่เขาไม่ต้องการ ซึ่งจะทำให้เขาหลีกเลี่ยงที่จะมารับคำปรึกษาต่อไป

5.  หลีกเลี่ยงการเกิดอารมณ์ร่วมและการเห็นชอบกับพฤติกรรมของนักเรียน นักศึกษา ที่จะเป็นการเสริมแรงให้เขาคิดและทำพฤติกรรมเหมือนเดิมทำให้เขาไม่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

6.  ไม่ควรรีบด่วนที่จะสรุปและแก้ปัญหา โดยที่นักเรียน นักศึกษา ไม่มีโอกาสได้สำรวจปัญหา และสาเหตุมากพอ

7.  หลังจากการให้คำปรึกษาแต่ละครั้งแล้ว ครูควรบันทึกผลการให้คำปรึกษาไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการให้คำปรึกษาต่อไป 

8. ต้องรักษาความลับ และประโยชน์ของนักเรียน นักศึกษาโดยต้องระมัดระวังที่จะไม่นำเรื่องราวของเขาไปพูดในที่ต่างๆ แม้จะไม่เอ่ยชื่อก็ตาม เพราะคนฟังอาจปะติดปะต่อเรื่องราวเอง หรือสอบถามกันจนรู้ว่าเป็นเรื่องราวของนักเรียน นักศึกษาคนใด ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อนักเรียน นักศึกษาคนดังกล่าว และกระทบถึงความน่าเชื่อถือไว้วางใจของระบบการให้คำปรึกษาได้
 
         นอกจากนี้ยังควรมีคุณลักษะที่สำคัญ  คือ มีบุคลิกภาพที่ดี  และการรักษาความลับ
          อย่างไรก็ตาม ในการให้คำปรึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา หากอาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณาแล้วเห็นว่า  เรื่องที่นักเรียน นักศึกษามาขอรับคำปรึกษานั้น เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนสมควรขอความช่วยเหลือ ต้องการส่งต่อผู้เรียนและปัญหาดังกล่าวไปยังงานที่เกี่ยวข้องเช่นงานแนะแนวของโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี ก็สามารถทำได้และถือเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เขาได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด อย่างไรก็ดีบางครั้งอาจใช้วิธีการแนะแนวครู เพื่อให้ครูช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาผู้นั้นต่อ เพราะนักเรียน นักศึกษา ถ้าเข้าหาอาจารย์ท่านใดก็แสดงว่าเขาไว้วางใจอาจารย์ท่านนั้นๆ จงภูมิใจที่เราได้ช่วยนักเรียน นักศึกษาของเรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น