ทฤษฎีการให้การปรึกษาเชิงบำบัดแนวเกสตัลท์ ( Gestalt Therapy )
ความเป็นมาของทฤษฎีให้บริการปรึกษาแบบเกสตัลท์
เฟรทเดอริค เอส เฟิลส์ (Frederick S. Perls) เป็นผู้ริเริ่มจิตบำบัดแบบเกสตัลท์ (Gestalt Therapy) เขาเกิดในเยอรมันเมื่อปี ค.ศ. 1893 ได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์ในปี ค.ศ.1920 และได้ประสบการณ์เกี่ยวกับจิตเวชในเบอร์ลิน โดยใช้วิธีจิตวิเคราะห์ในการบำบัดรักษาคนไข้ หลังจากนั้นฟิลส์ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่แอฟริกาใต้ และได้เริ่มคิดวิธีการอื่นในการบำบัดรักษาคนไข้โรคจิต โรคประสาท ต่อมาในปี ค.ศ. 1946 เขาย้ายมาอยู่ในอเมริกาและในช่วงนั้นเฟิลส์ได้นำวิธีการแบบเกสตัลท์มาใช้ในการบำบัดรักษาคนไข้ จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี ค. ศ. 1970
กล่าวโดยสรุป คือ ทฤษฎีการให้การปรึกษาเชิงบำบัดแนวเกสตัลท์ เป็นการบำบัดทางประสบการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นที่การมีสติหรือการตระหนักรู้ ถึงความรู้สึกของตนเองที่เกิดขึ้นในขณะนั้น และการทำงานของกายกับใจที่ควบคู่กันไป กล่าวคือเป็นการทำงานของความคิด ความรู้สึก และการรับรู้ ที่รวมกันเป็นกระแสธาร ลักษณะของจิตบำบัดแนวเกสตัลท์จึงเป็นแบบ Holistic Approach ซึ่ง Perls เชื่อว่าจะทำให้เกิดบูรณาการได้มากกว่าที่จะแยกออกมาวิเคราะห์เป็นบางส่วน
การพิจารณามนุษย์ตามแนวคิดของทฤษฎีให้บริการปรึกษาแบบจิตวิทยาเกสตัลท์
จิตวิทยาเกสตัลท์มีแนวความคิดเกี่ยวกับการพิจารณามนุษย์ดังนี้คือ
Ø มนุษย์เป็นอิสระจากอดีต เขาอยู่ในปัจจุบันมนุษย์ไม่สามารถจัดการกับอดีตและอนาคตได้อย่างแน่นอน แต่บุคคลสามารถดำเนินการกับปัจจุบันได้แน่นอนกว่า มีคำกล่าวเกี่ยวกับแนวความคิดของเกสตัลท์ว่า“จงอยู่กับปัจจุบัน อย่าอยู่กับอดีต และอย่าเลื่อยลอยไปกับอนาคต”
Ø ทฤษฎีมีความเชื่อเหมือนทฤษฎีให้บริการปรึกษาแบบบุคคลเป็นศูนย์กลางและทฤษฎีให้บริการปรึกษาแบบภวนิยม ที่ว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพสามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจได้ด้วยตัวเองและมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
Ø มนุษย์พยายามพัฒนาตนเองแต่มีความหมายแตกต่างจากการพัฒนาตัวเองของทฤษฎีให้บริการปรึกษาแบบผู้รับบริการแบบศูนย์กลาง ซึ่งเน้นให้ผู้รับบริการพัฒนาตนเองในอนาคต แต่แนวคิดของการให้บริการปรึกษาแบบเกสตัลท์เน้นให้ผู้รับบริการพัฒนาตนเองในปัจจุบัน
Ø มนุษย์สามารถจัดระบบชีวิต และแก้ปัญหาของตนเองได้ (Self regulation) เมื่อเกิดอารมณ์เครียดหรือเกิดความต้องการด้านต่างๆ ขึ้น มนุษย์จะพยายามทำให้เกิดความสมดุล เช่น พยายามลดความเครียดลง หรือพยายามกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะสนองความต้องการ แต่ถ้ามนุษย์มัวแต่รำพึงรำพันถึงอดีตหรือแสวงหาอนาคตโดยไม่นึกถึงภาวะปัจจุบัน เขาก็จะไม่สามารถจัดระเบียบหรือลดความเครียดด้านจิตลงได้
Ø การที่มนุษย์ตระหนักรู้ (Awareness) ในความต้องการของตน จะช่วยให้มนุษย์หาทางตอบสนองความต้องการ แต่ถ้าพยายามหลีกเลี่ยงไม่นึกถึงความต้องการนั้น จะใช้พลังงานไปในการเก็บกดความต้องการซึ่งจะทำให้เครียดหนักขึ้นและไม่สามารถตอบสนองความต้องการใดๆ ได้
Ø บุคคลประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่สัมพันธ์กันทั้งร่างกาย อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกและการรับรู้ เป็นการผสมผสานกัน(integration)เป็นการแสดงออกอย่างคนที่เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
Ø มนุษย์เกิดมาโดยไม่ได้มีความดีและความชั่วติดตัวมาด้วย มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เขาต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การที่จะเข้าใจบุคคลจะต้องเข้าใจสิ่งแวดล้อมของเขาด้วย
Ø บุคคลมีเสรีภาพที่จะเลือกตอบสนองต่อสิ่งเร้า
Ø การตระหนักต่อความรู้สึก ความคิด อารมณ์และการรับรู้ของตนในสภาพการณ์ต่างๆ ช่วยให้บุคคลสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
ความเชื่อของการบำบัดแนวเกสตัลท์ พอสรุปได้ดังนี้
1. มนุษย์มีลักษณะเป็นหน่วยที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตนเอง ร่างกาย อารมณ์ ความคิด ประสาทสัมผัสและการรับรู้ มีการทำงานที่สัมพันธ์กัน มนุษย์จึงมีลักษณะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การเข้าใจมนุษย์นั้นจะเข้าใจเฉพาะในแต่ละส่วนไม่ได้ จำเป็นต้องเข้าใจลักษณะของหน่วยเต็มทั้งหน่วย คือบุคคล
2. มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม การที่จะเข้าใจมนุษย์ให้ลึกซึ้งจำเป็นต้องเข้าใจทั้งบุคคล และสภาพแวดล้อมของเขา
3. มนุษย์เป็นผู้เลือกที่จะแสดงพฤติกรรมของตนเองในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก และภายใน
4. มนุษย์มีความสามารถที่จะรับรู้หรือสัมผัสถึงความคิด อารมณ์ และการรับรู้ของตนเอง
5. มนุษย์มีประสิทธิภาพในการรับรู้ถึงตนเอง มีสติ (Self Awareness) จึงทำให้มนุษย์มีความสามารถในการตัดสินใจเลือก พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของเขา
6. มนุษย์มีความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
7. มนุษย์ไม่สามารถนำตนเองไปเผชิญกับอดีตหรืออนาคตได้ เขาสามารถเผชิญเหตุการณ์ด้วยตนเองได้กับปัจจุบันเท่านั้น นั้นคือ คนเราสามารถรับรู้ถึงประสบการณ์ส่วนตนจากปัจจุบันเท่านั้น อดีตหรืออนาคตสามารถรับรู้ได้จากปัจจุบัน โดยการจำหรือการคิดคาดหวัง
8. โดยพื้นฐานของธรรมชาติแล้ว มนุษย์เราไม่ดีหรือไม่เลวโดยกำเนิด
จุดมุ่งหมายของการให้การปรึกษาแบบเกสตัลท์
1. ให้ผู้รับการปรึกษาเปลี่ยนพฤติกรรมจากการพึ่งพาผู้อื่น มาสู่การพึ่งพาตนเอง รับผิดชอบต่อตนเองพัฒนาไปสู่การมีวุฒิภาวะ
2. ให้ผู้รับการปรึกษามีประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง สามารถใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่
3. ช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้ใช้พลังงานของชีวิตอยู่กับปัจจุบัน รู้จักปล่อยวางอดีต โดยการทำความรู้สึกที่คั่งค้างให้สมบูรณ์ และไม่วิตกเกี่ยวกับอนาคต
4. ช่วยให้ผู้รับการปรึกษากล้าเป็นตัวของตัวเองที่แตกต่างไปจากบุคคลอื่น เข้าใจในค่านิยมและกฏเกณฑ์ของสังคม
บทบาทของผู้ให้บริการปรึกษาแบบเกสตัลท์
1. ผู้ให้บริการปรึกษาจะไม่ทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะตีความหมาย ประสบการณ์ของผู้รับบริการหรือคาดคะเนอนาคตให้ผู้รับบริการ
2. . ผู้ให้บริการปรึกษาจะต้องช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบ และพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่
3. . ผู้ให้บริการปรึกษาจะเปิดโอการให้ผู้รับบริการได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการให้บริการปรึกษาให้มากที่สุด
4. . ผู้ให้บริการปรึกษาจะสังเกตความไม่สอดคล้องกันระหว่างคำพูดกับอารมณ์ของผู้รับบริการ แล้วป้อนกลับไปให้ผู้รับบริการได้ตระหนักถึงพฤติกรรมและอารมณ์ของเขาในขณะนั้น
เทคนิคและวิธีการที่ให้การปรึกษา
การให้การปรึกษาแบบเกสตัลท์มีเทคนิค และวิธีการมากมายที่จะช่วยผู้รับการปรึกษาเกิดการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง พึ่งพาตนเอง รับผิดชอบต่อการกระทำและความรู้สึกของตนเอง โดยผู้ให้การปรึกษาเลือกใช้เทคนิคต่างๆ ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ อย่างไรก็ตามผู้ให้การปรึกษาต้องตระหนักว่าเทคนิคต่างๆจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายของการให้การปรึกษาได้นั้น จะต้องอิงอยู่กับสัมพันธภาพที่ดีของการให้การปรึกษา เทคนิคที่สำคัญได้แก่
1. การฝึกใช้ภาษา เพื่อช่วยเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับความรู้สึกและการกระทำของตนเอง โดยผู้ให้การปรึกษาใช้เทคนิคดังนี้
1.1 ให้ผู้รับการปรึกษาใช้สรรพนามแทนตนเองตรงๆ ( Personalizing Pronouns) ช่วยให้ผู้รับการปรึกษารับรู้ตนเอง คิด พูด และมีความต้องการอย่างไร และรับผิดชอบต่อการพูด ความรู้สึกและการกระทำของตนเอง เพราะบุคคลมักจะปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง จึงมักจะเอ่ยลอยๆ เช่น “ ใครๆก็คงรู้สึกไม่อยากต่อสู้กับปัญหาแบบนี้ “ การที่ไม่รู้สึกอยากต่อสู้ ไม่ใช่สิ่งที่เสียหาย แต่การเอ่ยแบบนี้เป็นการเลี่ยงที่จะรับรู้ว่าตนเองรู้สึกอย่างนั้น
1.2 เปลี่ยนคำถามให้เป็นประโยค (Changing question to statement) ผู้ให้การปรึกษาแบบเกสตัลท์จะไม่พยายามตอบคำถามที่ผู้รับการปรึกษาถาม เพื่อเลี่ยงที่จะกล่าวถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง แต่จะกระตุ้นให้ผู้รับการปรึกษารับรู้ถึงความรู้สึกนั้น และให้พูดออกมาในลักษณะของประโยคบอกเล่า
2. ฝึกผู้รับการปรึกษาให้รับรู้ถึงความรู้สึกต่างๆที่ตนเองมี ทั้งความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงโดยไม่พยายามปฏิเสธในส่วนที่เป็นตนตามอุดมคติ ที่เรียกร้องให้ทำตามค่านิยมของสังคม มีเทคนิคดังนี้
2.1 การพูดโต้ตอบด้วยตนเอง ( Game of Dialogue) ในขณะที่ผู้ให้การปรึกษาต้องสังเกตภาษาท่าทาง โดยให้ผู้รับการปรึกษาถ่ายทอดความรู้สึกที่ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงไปที่มือข้างขวา แล้วถ่ายทอดความรู้สึกที่แท้จริงไปที่มือข้างซ้าย แล้วพูดโต้ตอบกันถึงความรู้สึก 2 ด้านนี้ เทคนิคนี้ช่วยให้เกิดความกระจ่างถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้ง ความวิตกกังวลก็จะลดลง สามารถเลือกตัดสินใจได้และรับผิดชอบต่อการเลือกของตนเอง โดยไม่รู้สึกว่าถูกบงการจากผู้อื่น
2.2 เทคนิคเก้าอี้ว่างเปล่า ( The empty chair technique) เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ผู้รับการปรึกษารับรู้ถึงความรู้สึกขัดแย้งภายในตัวเองให้กระจ่างขึ้น มีวิธีโดยใช้เก้าอี้สองตัว ตั้งประจันหน้ากันไว้ แล้วให้ผู้รับบริการปรึกษาแสดงบทบาทและคำพูด ในส่วนที่เป็นความต้องการที่แท้จริง เมื่อนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวหนึ่ง พูดไปกับเก้าอี้ตัวที่ว่างที่เป็นส่วนของความรู้สึกตามอุดมคติ ที่บอกตนเองว่าควรทำอะไร แล้วย้ายไปนั่งเก้าอี้ตรงข้ามที่ว่าง แล้วแสดงบทบาทเป็นส่วนของความรู้สึกตามอุดมคติที่ขัดแย้งอยู่แล้วโต้ตอบกลับไป เทคนิคนี้จะช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเข้าใจความรู้สึกทั้งสองที่ตนมีได้กระจ่างมากขึ้น
3. ฝึกให้ผู้รับการปรึกษาใช้จินตนาการ ( Fantasy game) เป็นการย้ายความรู้สึกและความต้องการของตนเองไปยังสิ่งอื่น แล้วจินตนาการว่าถ้าเป็นตนเองจะมีความรู้สึกและต้องการอย่างไร
1. เกมการซ้อมบท ( Role Playing) เป็นการแสดงบทบาทเมื่อผู้รับการปรึกษาได้เผชิญเหตุการณ์ด้วยตนเอง โดยให้แสดงบทบาทที่ตนคิดเอาไว้ออกมาจริงๆ
4. การแสดงบทบาทที่กล่าวโทษผู้อื่น ( Playing the projection) เป็นการช่วยให้ผู้รับการปรึกษาได้ตระหนักถึงความรู้สึกที่ไม่ดีภายในตนเอง ที่ตนเองไม่กล้ายอมรับ และมักจะคอยจับผิดและกล่าวโทษผู้อื่น ให้เกิดความพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเอง โดยไม่กล่าวโทษผู้อื่น
5. ฝึกให้ผู้รับการปรึกษาเพ่งอยู่กับความรู้สึกตนเอง ( Staying with the feeling) เป็นการให้ผู้รับการปรึกษาได้รับรู้ความรู้สึกของตนเองในสภาวะปัจจุบันให้ได้ และให้กล้าเผชิญกับความจริงโดยไม่เลี่ยงความรู้สึกที่ไม่อยากสัมผัส ซึ่งมักจะเป็นความรู้สึกที่คั่งค้างต่อประสบการณ์ต่างๆในอดีต ที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมปัจจุบัน
คำวิจารณ์การให้บริการปรึกษาแบบเกสตัลท์
ข้อดี
1. ช่วยให้ผู้รับบริการเผชิญกับความจริงให้กล้าสู้ความจริงและสู้ชีวิต เผชิญกับความรู้สึกที่อยากหลีกหนีให้หลุดพ้นจากความรู้สึกท้อแท้หมดหวัง
2. สนับสนุนให้ผู้รับบริการมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน และการตัดสินใจของตน ให้ผุ้รับบริการสามารถเอาชนะอุปสรรคและแก้ปัญหาได้
3.เน้นปัจจุบัน ไม่เพ้อฝันถึงอนาคตหรือติดข้องอยู่กับอดีต
4.กลวิธีของเกสตัลท์จะใช้ได้ผลดีก็ต่อเมื่อบุคคลเกิดปัญหาดังที่กล่าวไปแล้ว
ข้อเสีย
1. ผู้ให้บริการเป็นผู้ชี้นำให้ผู้รับบริการทำอย่างนั้น อย่างนี้มากกว่าปล่อยให้ผู้รับบริการดำเนินการเอง
2. วิธีนี้อาจไม่ได้ผลกับผู้ที่มีอารมณ์เปราะบางวิธี บางอย่างอาจก่อให้เกิดความเครียดทางอารมณ์
3. วิธีให้บริการปรึกษาแบบเกสตัลท์นี้อาจใช้ไม่ได้ผลกับ
- บุคคลที่ไม่ตระหนักในความรู้สึกของตน
- บุคคลที่ต้องการเฉพาะข้อมูลเพื่อการตัดสินใจเฉพาะหน้า
- บุคคลที่มีปัญหาวิกฤต
- บุคคลที่ไม่สามารถใช้จินตนาการได้ดีพอที่จะร่วมกิจกรรมต่างๆ
กล่าวโดยสรุปเกสตัลท์จะไม่ใช่การวิเคราะห์ การวินิจฉัย และการทดสอบ ดังนั้นการตั้งคำถามจึงเป็นคำถามประเภท อะไร และ อย่างไร จะไม่ใช้คำถาม ทำไม ส่วนการตีความนั้นถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้รับการปรึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น